- 20 พ.ย. 2563
เปิดเบื้องหลังครม.ติดเบรค “ก.คมนาคม” ขวางฉุกเฉิน ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สุดย้อนแย้ง ตีรวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอาชา เร่งหนักหวังพลิกคุณภาพชีวิตคนกรุงฯ ตั้งแต่ยุคนั่งหัวหน้าคสช.
ความวัวยังไม่ทันหาย...ความควายเข้ามาแทรกเต็ม ๆ หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จากกรณี "กระทรวงคมนาคม" โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการฯ ร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพิ่งโน้มน้าวให้ครม.เห็นชอบขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อระงับข้อพิพาทคดีทางด่วนที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท ได้แก่ การแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และการแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ทั้ง ๆ ที่ประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ยังอยู่ชั้นการพิจารณาของศาลปกครอง และอนุญาโตตุลาการ
แต่ปรากฎว่า "ในที่ประชุมครม. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กลับเสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM ให้ครม.พิจารณา ซึ่งที่ประชุมครม.ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน โดยมีรัฐมนตรีฝั่งที่เห็นด้วยกันฝั่งที่ไม่เห็นด้วย แต่สุดท้าย ครม.ก็มีมติให้ต่ออายุสัมปทาน และให้ไปดำเนินการตามข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
มาคราวนี้ กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ คนเดิม ได้ทำหนังสือลงวันที่ 16 พ.ย.2563 ส่งถึงเลขาคณะรัฐมนตรี เแสดงความเห็นเพิ่มเติมกรณีขอความเห็นชอบผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งสาระสำคัญของหนังสือฉบับดังกล่าว ก็คือ การเพิ่มเติมความเห็นจากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคม ร่วมพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวไปก่อนหน้า อาทิ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 , วันที่ 30 มี.ค. 2563 , วันที่ 9 มิ.ย.2563 และ วันที่ 17 ส.ค. 2563 ตามลำดับ
"ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นชอบประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้คณะรัฐมตรีพิจารณา โดยต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 263 ลงมติรับทราบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบผลการเจรจาและได้ผ่านการตรวจร่างสัญญาฯ จากสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว และให้กระทวงการคลังพิจารณาเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเห็นต่อรายงาน เรื่อง การพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี"
ผ่านไปกว่า 1 ปี กระทรวงคมนาคม โดยกรมขนส่งทางราง ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นสมควรให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว อ้างถึงการดำเนินการเจรจาเพื่อต่อสัญญาสัมปทาน สมควรที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมภิบาล และเกิดผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ
ประเด็นข้อพิจารณาก็คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว เดิมมีกำหนดจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเป็นประธาน แต่กลายเป็นว่าล่าสุดยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกำหนดหรือไม่ หลังจาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ซึ่งทดลองวิ่งเพิ่มเติมอีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรมป่าไม้ (N14) สถานีบางบัว (N15) สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ระยะทางรวม 4.2 กิโลเมตร พร้อมให้บริการฟรีมาตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธินและ ถนนวิภาวดีรังสิต กลับมามีปัญหาอีกครั้งในเรื่องข้อเจรจา
เนื่องจากผลการประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการยื่นหนังสือทักท้วงจากกระทรวงคมนาคม ทำให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้รับผิดชอบ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสีขียว ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2562 ต้องถอนเรื่องผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เสนอไว้ก่อนหน้าออกไป ทั้งๆที่ก่อนหน้าทุกฝ่ายได้มีการเจรจาหาข้อยุติประเด็นต่าง ๆ มาเป็นลำดับ โดยเฉพาะเงื่อนไขการต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ "บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์"
คือ จากสิ้นสุดสัญญาในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี หรือ จนถึงปี 2602 เพื่อควบคุมอัตราค่าโดยสารตลอดสายระยะทาง 66.4 กิโลเมตร ไม่ให้เกินราคา 65 บาท รวม โดยภาคเอกชนยอมเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด รวมถึงภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ ที่กรุงเทพมหานครมีต่อกระทรวงการคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 44,429 ล้านบาท
ขณะที่ปัจจุบันกทม.เองก็ค้างชำรถค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี ผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมอบให้ กทม.รับผิดชอบเดินรถ และส่วนที่เปิดให้บริการไม่ได้มีการเก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด
และถือเป็นข้อทักท้วงของกระทรวงคมนาคม ที่มีข้อสังเกตประกอบว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ผลการพิจารณาของภาคส่วนอื่น ๆ รวมถึงกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันดำเนินการไปเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ตามปรากฎอยู่ในหนังสือ กระทรวงการคลัง ที่ กค. 0820.1/20037 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2563 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการฯ ให้ความเห็นชอบตามที่เคยมีการหารือร่วมทุกฝ่ายตามมติครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 โดยเฉพาะข้อตกลงคุณธรรม ว่าด้วยการป้องการทุจริต และการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีการพิจารณาไปก่อนหน้าในช่วงยุคสมัย นายปรีดี ดาวฉาย เป็น รมว.การคลัง
รวมถึงหนังสือกระทรวงการคลัง ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุด้วยซ้ำว่า ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม จากที่กระทรวงคมนาคม ได้เคยเสนอผลการพิจารณาผลการศึกษาฯต่อคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค.(ปคร) 0202/192 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้ว
หรือเท่ากับว่าข้อทักท้วงเพิ่มเติมของกระทรวงคมนาคม เพิ่งมาปรากฎในช่วงวันที่คณะรัฐมนตรี พร้อมจะให้ความเห็นตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องได้กลับไปร่วมพิจารณาประเด็นข้อทักท้วงต่างๆมาอย่างรอบด้านตามมติครม.ก่อนหน้า รวมถึงกระทรวงคมนาคม ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส่งผลทำให้มีแนวโน้มอย่างสูงว่าระบบขนส่งมวลชน อาจเกิดประเด็นปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี แสดงเจตนาตั้งแต่ยุคเป็นหัวหน้าคสช. ต้องการให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินการครบ 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2563
คำถามทิ้งท้ายก็คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีนัยแฝงอะไรหรือไม่อย่างไร ในการออกมาขวางแผนการขยายอายุสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบปัจจุบันทันด่วน ทั้ง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการพิจารณารายละเอียดข้อทักท้วงต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จนนำมาสู่ข้อยุติก่อนเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังจากเคยออกมาหนุนเต็มสูบ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการปรับแก้ไขเงื่อนไขประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้ง ๆ ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเปิดประมูลไปแล้ว
จนท้ายสุดศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน "จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : ศาลปกครอง สั่งคุ้มครอง BTS ให้รฟม.กลับไปใช้เกณฑ์เดิม ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม )
>> ช้อปดีลเด็ดในแอพ Lazada ลดต่อเนื่องจาก 11.11 กดช้อปคลิกเลย <<