- 31 ก.ค. 2563
ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยเอกสารสำคัญ ว่าด้วยเรื่องการตรวจร่างกายของนายวรยุทธ ที่เกี่ยวเนื่องกับการตรวจสารในร่างกายที่ตรวจพบ ซึ่งพบประเด็นข้อ 3 ที่ว่าด้วยสารปรับความดังกล่าว มีคนอยู่ในยาหรืออาหารประเภทใดหรือไม่ โดยแบ่งแยกย่อยได้ว่า 1. Alprazolam ไม่มีปนในอาหารแต่พบเป็นยาคลายวิตกกังวลในรูปแบบยาเม็ดในชื่อการค้าต่างๆ ทั้งนี้ Alprazolam มีขายได้เฉพาะร้านขายยาที่มีใบอนุญาตและผู้ซื้อต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่ประชาชนยังคงให้ความสนใจ สำหรับเหตุกรณีการสรุปคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา โดยการไม่สั่งฟ้อง ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 โดยรองอัยการสูงสุด ขณะที่ ในฝ่ายของคณะทำงานสตช. ก็มีความเห็นไม่แย้งคำสั่ง ส่งผลให้คดีเป็นที่ยุติ และ ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญากว่า 8 ปี กลายเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยาย
กระทั่งต่อมามีรายงานว่า นายจารุชาติ มาดทอง 1 ใน 2 พยานปากเอก ได้เสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อช่วงตี 1 ของวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุว่า พนักงานสอบสวนคดี บอส วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง ชี้แจงเหตุเจอโคเคนในร่างกาย ว่าเกิดจากการทำฟัน จึงไม่แจ้งข้อหายาเสพติด ซึ่งหลังจากที่ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอออกไปนั้น มีหลายคนได้ตั้งคำถามว่า โคเคน ใช้ในทางการแพทย์จริงหรือ แล้วโคเคนชนิดไหนกันที่ถูกนำมาใช้ แล้วใช้ในปริมาณเท่าไร ซึ่งหลายคนที่เป็นทันตแพทย์ก็ถึงกับงงว่า การใช้โคเคนมาใช้ในการทำฟันนั้นมีอยู่ในตำราจริงหรือ เพราะปกติที่รักษาคนไข้ ก็ไม่ได้ใช้โคเคนแล้ว
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ซึ่งตำรวจอ้างข้อมูลของทันตแพทย์ว่า สารโคเคนที่ตรวจพบเกิดจากการรักษาฟัน ทำให้ตำรวจไม่สั่งฟ้องคดียาเสพติดว่า ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคนที่สกัดจากพืชโคคาในการทำฟันแล้ว เนื่องจากออกฤทธิ์ให้ความชาไม่นาน และมีผลข้างเคียงกับสุขภาพของผู้ป่วย โดยทำให้มีความดันโลหิตสูง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ทันตแพทย์จึงหันไปใช้สารสังเคราะห์ชนิดอื่นที่ให้ฤทธิ์การชา ได้แก่ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน ที่ออกฤทธิ์ให้ความชาดีกว่าและมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยกว่า ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้และหายไปจากวงการทันตกรรม
ก่อนหน้านั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กมธ.หลายคนได้สอบถามเหตุผลของการไม่แจ้งข้อหาเสพยาเสพติด หลังผลการตรวจร่างกาย นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ลงวันที่ 1 ต.ค. 2555 ยืนยันพบสาร Benzoylecgonine ในเลือด และเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลังจากการเสพโคเคน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ
และเป็นทางด้าน พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.สภ.สมุทรปราการ (อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ) ชี้แจงว่า รายงานการตรวจสารแปลกปลอมในร่างกายนายวรยุทธ โดยข้อเท็จจริงอยู่ในสำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งส่งให้อัยการครบถ้วน แ ต่เหตุที่ไม่มีการสั่งฟ้องในข้อหานี้ เพราะเป็นดุลพินิจของคณะพนักงานสอบสวนหลายคน แต่รายละเอียดขอไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ สตช.ตั้งขึ้น
ล่าสุดมีการเผยแพร่เอกสารอีกฉบับ เป็นผลการตรวจสารแปลกปลอมในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา จากโรงพยาบาลตำรวจ ลงวันที่ 16 ต.ค. 2555 ตอบข้อซักถามของ ผกก.สน.ทองหล่อ ( พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ยศตำแหน่งในขณะนั้น) โดยมีประเด็นสำคัญของรับรู้ผลการตรวจสอบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2555 คือ Benzoylecgonine ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่เป็นเมตาบอไลต์ หรือ สารที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเสพ cocaine ซึ่ง cocaine จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และข้อคำถามว่าสารแปลกปลอม มีปนอยู่ในอาหารประเภทใดหรือไม่ รพ.ตำรวจ ชี้แจงว่า Benzoylecgonine ไม่มีปนในยาหรืออาหารใด ๆ และสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ประมาณ 20-40 ชั่วโมง