- 21 ก.พ. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 ประเทศไทยเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลอย่างเป็นทางการ เมื่อกสทช. ประกาศผลการประมูลช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ท่ามกลางกระแสความตื่นเต้นกับวงการโทรทัศน์ ด้วยยอดเงินประมูลรวมถึง 50,862 ล้านบาท แต่อีกมุมด้านของสภาพความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ช่วงเวลานั้น กับยอดเงินประมูลสถานีแต่ละประเภท ยากจะคาดเดาว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะประสบผลสำเร็จทางธุรกิจได้หรือไม่ อย่างไร ??
ผ่านมากว่า 4 ปี อย่างที่รับรู้ในวงกว้าง ว่า การบริการโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล มีปัญหาทางธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ ถึงขั้นผู้ประกอบการยอมทิ้งใบอนุญาตก็เกิดขึ้นแล้ว ล่าสุด “ฉาย บุนนาค” ประธาน
ไม่รู้จะ “ดีใจ” หรือ “เสียใจ” กับข่าวที่ คสช. เตรียมใช้ ม.44 “อุ้ม” ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยให้พักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และ 6 รวมทั้งลดค่าเช่าโครงข่าย (Mux) ไม่เกิน 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี
หากแต่ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่การ “อุ้ม”… นี่แค่เพียง “ยาแก้ปวด” ยื้อชีวิตคนป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายแค่นั้นเอง
4 ปีก่อน กสทช.แถลงความสำเร็จสามารถหาเงินเข้าหลวงมูลค่ารวม 50,862 ล้านบาท จากการประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ภายใต้สโลแกนชวนเชื่อ “ดิจิตอลทีวีดูดีทุกบ้าน”
ด้วยนโยบายและกฎระเบียบที่ถูกร่างและอนุมัติมาโดยกรรมการ (ชุดเก่า) ที่มีความรู้ด้านธุรกิจสื่อและกิจการโทรทัศน์เพียงหางอึ่งบวกกับความผันผวนที่ยากจะเดาในอุตสาหกรรมสื่อทั้งกลุ่ม ณ ขนาดนั้น
กับวลีที่คอยหลอกหลอนผู้ประกอบการว่า “สื่อเก่าจะต้องตาย” และ “สื่อใหม่เท่านั้นคือทางรอด”
ผนวกกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างฉับพลัน และนั่นหมายถึงเม็ดเงินโฆษณามหาศาลที่ไหลออกจากสื่อเก่าอย่างน่าใจหาย
ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว ทำให้ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตของธุรกิจสื่อได้ ณ ตอนนั้น
จนเสมือนปลายปิดว่าการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล คือทางบังคับเพียงเส้นเดียวสู่ทางรอดบนเส้นทางธุรกิจสื่อ
การรักษาสัญญา การยอมรับความผิดพลาด และแก้ไขปัญหานั้นเพื่อส่วนรวม ล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำและนักธุรกิจที่ดี
สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ประมูลมาแล้วซึ่งใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ก็ต้องก้มหน้าก้มตาจ่ายค่าโง่ เดินต่อกับฟันยางเปื้อนเลือดในปาก
สำหรับ กสทช. และ “คำมั่นสัญญา” ที่เคยให้ กลับเป็นเพียงปริญญาสอนมนุษย์ว่าไม่ควร “คบเด็กสร้างบ้าน”… เปรียบดั่งเอาผู้ด้อยประสบการณ์มาทำงานใหญ่!
“ดิจิตอลทีวีดูดีทุกบ้าน” คือ คำโกหกหรือ คำโฆษณาเกินจริง... คำตอบนี้คงไม่ต้องพิสูจน์อีก เมื่อผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปี 2560) พบว่ามีเพียง 15.86% ของครัวเรือนเท่านั้นที่รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) ด้วยคูปอง กสทช. ที่แลกมา/ซื้อ
จึงสรุปได้ว่าโครงการประมูลทีวีดิจิตอลนี้ “เขียนด้วยมือ และลบด้วยเท้า”
หมอคือผู้รักษาชีวิต การจ่ายยาผิดให้ผู้ป่วยอาจส่งผลถึงตายและหลายครั้งสร้างความทรมานอย่างแสนสาหัสก่อนสิ้นใจ
ยาแก้ปวด ที่คสช.มอบให้มาเม็ดนี้ ผมจะวิเคราะห์และทำนายผลให้เห็นผลกระทบอันใกล้กับสังคมไทย
อีกภายใน 2 ปี...
1. จากการที่ท่านไม่ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล “Exit” หรือ “คืนคลื่นความถี่” เพื่อให้กสทช.นำคลื่นไปทำประโยชน์อื่นที่คุ้มค่ากว่า จะทำให้ทีวีอย่างน้อย 6-10 ช่องต้องปิดตัวลงเพราะภาวะขาดทุน
2. จะมีพนักงานกว่า 3 พันชีวิตตกงาน ส่งผลกระทบต่อ 1.2 หมื่นชีวิตในครอบครัว
3. จะมีหนี้เสียกับธนาคารพาณิชย์ และการฟ้องร้องคดีตามมาอีกมากมาย
4. สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่รอด คุณภาพของเนื้อหาและสาระที่ผลิตจะไร้ซึ่งคุณภาพและมุมสร้างสรรค์สังคม เพราะทุกคนจะทำรายการเพื่อยอด Rating ท่านจะพบแต่ละครดราม่า ข่าวฆาตกรรมและข่มขืน ข่าวตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก ข่าวลอตเตอรี่ 30 ล้าน ข่าวเสี่ยโป้ ข่าว BNK 48 ซึ่งถูกจริตคนไทย
อีกภายใน 5 ปี…
1. สื่อมวลชนคุณภาพ จะสูญพันธุ์เพราะเนื้อหาที่ดีมีประโยชน์ไม่มีคนสนใจ และการมาแทนที่ของ influencer จากสังคมออนไลน์
2. สังคมไทยจะไร้ “สถาบันทางความคิด” และชาติก็จะขาดความมั่นคงและอยู่ในภาวะเสี่ยงจากทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยปัญญา
ที่ผ่านมา การนำอำนาจตามมาตรา 44 มาใช้ล้วนเป็นการเร่งรัดและแก้ไขปัญหาสารพัด ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาสังคมเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคงในชาติ
เราหวังว่ารัฐบาลคงจะไม่ลืมแก้ไข “ปัญหาด้านความคิดและสติปัญญาคนในชาติ” ที่ได้รับอิทธิพลตรงจาก “สื่อ” ที่กระทบผ่านระบบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ”
.....................
ที่มา คอลัมน์ : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3342 ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ.2561