- 27 ต.ค. 2559
ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th
หลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ26 ธันวาคม 2547 มีไม่กี่หน่วยงานองค์กรที่ได้เข้าไปปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ให้ชาวบ้านแถบถิ่นอันดามัน นับแต่บ้านหลังสุดท้ายของพวกเขาได้พังทลายหายไปพร้อมคลื่นร้าย เห็นดั่งนั้นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้เข้าไปประคับประคองผู้ประสบภัยเหล่านั้น ที่ไม่เฉพาะไปวางรากฐานให้กับบ้านเท่านั้น หากแต่ยังได้วางฐานรากของชีวิตให้พวกเขาได้ยืนหยัดก้าวเดินไปบนทางที่ยั่งยืนอีกด้วย
ชายคาพักกาย พักใจของชาวหมู่บ้านบางขยะ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ไม่เพียงเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกเขาเท่านั้น หากแต่บ้านหลังนี้ถูกออกแบบโดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งการช่วยเหลือของพระองค์ เปรียบดั่ง น้ำฝนที่ร่วงลงบนผืนดินช่วยพืชพันธุ์ให้หยั่งรากลึก สายน้ำฝนที่อาบชโลมป่าจะปลุกป่าทั้งป่าเขียวขจี หยาดน้ำฝนที่พร่างพรูลงสู่ห้วยบึงจะเติมเต็มให้ผืนน้ำกลับกลายเป็นมหานที หยดน้ำแต่ละหยดไหลรวมกันระเหยลอยคืนขึ้นไปสู่เบื้องบน ก่อนกลับลงมาสู่เบื้องล่างอีกครั้งสิ่งนี้เรียกว่า....ฝนจากฟ้า ที่คล้ายว่าคือทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อหลวงได้นำมาบรรเทาปลอบประโลมลูกๆจากภัยร้ายของพระองค์
ดังนั้นในวันนี้จึงมีเรื่องเล่าจากลูกๆที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหลั่งใหลออกมาในวันที่ "พ่อ" เสด็จฯสู่สวรรคาลัยไปแล้ว เหลือไว้เพียงรอยทางที่พ่อสร้าง บนเส้นทางที่ยั่งยืน ซึ่งลูกๆได้เดินตามรอยทางนั้น เพื่อจะได้ยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเอง ดั่งที่พ่อได้สอนไว้ ไม่เพียงการวางรากฐานให้กับบ้านเท่านั้น หากแต่ยังได้วางฐานรากของชีวิตให้ลูกๆได้ยืนหยัดก้าวเดินไปบนทางที่ยั่งยืนอีกด้วย
“ ชาวมอแกนทุกคนที่นี่ปิติยินดี มอแกนทุกคนรักในหลวงหมด คนไทยทุกคนรักในหลวง เราอยู่(บ้านบางขยะ)อยู่กันแบบญาติพี่น้อง ที่ว่ามีพ่อคนเดียวกัน เหมือนกับพ่อสร้างบ้านให้ลูกๆอยู่ คือเป็นพ่อบังเกิดเกล้า เป็นพ่อของประเทศ เป็นพ่อของแผ่นดิน เราทุกคนหลังจากสึนามิแล้ว ไม่มีใครคิดว่าจะอยู่ได้ถึงขนาดนี้ ในวันที่เกิดเหตุคนทุกคนอพยพไปอยู่ในป่าบนเขา ลูกเชื่อมั๊ย ข้าวสิบกล่องกินไม่หมด คนอยู่กันร้อยกว่าคน เหมือนกับคนไม่มีเสียงพูด ไม่มีเสียงดัง เท่าแต่รู้ว่ามีแต่เสียงเจ็บอย่างเดียว ข้าวน้ำไม่กิน ไม่พูดจา ” ย่ำเย็นแสงสุดท้ายแห่งวันกำลังจะจางหายไปในหมู่บ้านบรรยากาศเงียบสงัด มีเพียงแววตาที่ครุ่นคิดและเสียงที่เจ็บปวดของชายชรา ผู้รับการสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ของมอแกนแห่งแหลมปะการัง
ลุงโอ๊ะ คือชื่อจริงและเป็นทั้งชื่อเล่นของหัวหน้ามอแกน แกเปรียบเสมือนภาพฉายสะท้อน ให้มองเห็นไปถึงบรรพบุรุษกำเนิดเผ่าพันธุ์ชาวมอแกน ด้วยผิวที่ดำแดง ผมหยิกหยักศก คิ้วหนาหน้าตาละหม้ายคล้ายกัน สำเนียงภาษาคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งชนเผ่า ชาวมอแกนนั้นมีอยู่หลายกลุ่มในถิ่นตะกั่วป่าพังงา หากแต่กลุ่มลุงโอ๊ะสามสิบกว่าครอบครัวได้อพยพจากแหลมปะการังมาปักหลักถิ่นใหม่ยังหมู่บ้านบางขยะเมื่อปี2548 หลังโดนสึนามิไล่ล่า ที่ลุงโอ๊ะและลูกเมียแทบเอาชีวิตไม่รอด กระนั้นก็มิวายต้องสูญเสียบ้านและญาติพี่น้องไปหลายคน
“ ลุง ป้า ลูกๆไม่เป็นอะไร พากันย้ายมาอยู่ที่นี่หมดเลย ที่นี่มีบ้านลุงหลังนึง บ้านลูกสองหลัง ลูกมีอยู่ห้าคน หญิงหนึ่ง ชายสี่คน มีครอบครัวแล้วสี่คน อีกหนึ่งคนไม่มีครอบครัว ” ชายชราเล่าถึงสมาชิก และย้อนให้ฟังถึงบ้านเดิมว่าอยู่ห่างจากทะเลหนึ่งกิโลเมตร และในขณะที่เกิดเหตุการณ์สีนามินั้น ลุงกำลังหาปลาอยู่กลางทะเล ส่วนเมีย ลูกสาว และลูกสะใภ้ขายอาหารตามสั่งอยู่หน้าหาด บดิมที่แหลมหาปล้น ลุงก็อยู่กลางทะเลกำลังหาปลาาไกก็ไม่ปาน ลุงโอ๊ะถูกคลื่นซัดเรือแตกพร้อมลูกชายอีกสามคน พอเรือแตกก็จมลงน้ำ แล้วผุดขึ้นมาลอยอยู่ น้ำก็ซัดฝั่ง ขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ ลุงเจ็บที่เท้าซ้าย รักษาอยู่นานสามเดือน เพราะแผลติดเชื้อ พอทำแผลเสร็จก็กลับมาดูบ้าน เห็นว่าบ้านพังหมดแล้ว
ชายเฒ่าออกเรือทุกวันเช้าไปเย็นกลับ ไม่ได้ออกไปไหนไกล บางครั้งก็พาแขกหรือนักท่องเที่ยวไปตกปลา แกก็ถือหางเรือ โดยมีลูกเรือคอยดูแลการตกเบ็ดให้พวกนักท่องเที่ยว และลูกเรือของแกก็ไม่ธรรมดาเพราะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย ส่วนรายได้ที่ได้จากงานนี้ก็จะตกราววันละสี่พันบาท แต่สำหรับเฒ่าโอ๊ะแล้วมันไม่เยอะเลย
“ หลังจากสึนามิเราไม่มีอะไร เรามีแต่ตัว ทรัพย์สินเงินทองเราสูญหายไปหมด หลังจากนั้นเราก็ทำใจได้ มาอยู่บ้านที่ในหลวง ปลูกให้ทุกคนก็ดีใจ ภูมิใจ ช่วงนี้ทุกคนแต่ละครอบครัวมีอยู่มีกินพอสมควรแล้ว ก้าวหน้าไปมาก ช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควรแล้ว คือ80ครัวเรือนนี่ ช่วยตัวเองได้แล้วประมาณ75ครอบครัว ก็มีการต่อเติมบ้าน ของลุงก็อยู่สบายๆธรรมชาติ ตอนนี้สบายกว่าหลังสึนามิมาก ”
" บ้านของสำนักงานทรัพย์สินฯที่มาสร้างให้ 80หลัง จะเป็นของชาวมอแกน 52 หลังที่เหลือเป็นของชาวไทยพุทธ ชาวมอแกนเรียกคนในหมู่บ้าน ที่ไม่ใช่คนมอแกนด้วยกันว่าคนไทยพุทธ ซึ่งนั่นก็คือคนทั่วๆไปนั่นเอง และแม้ชาวมอแกนจะนับถือศาสนาพุทธ แต่หากมีคนตายก็จะวิธีการฝังไม่ใช่เผา ส่วนพิธีการทางงานศพนั้น จะทำพิธีเหมือนชาวพุทธ คือมีพิธีทางศาสนา นิมนต์พระมาสวดหน้าศพ และหลังพิธีกรรมการฝังของมอแกนเสร็จ ก็จะนิมนต์พระมาสวดบังสุกุล
มีอะไรก็ปรึกษาหารือกัน ทำเพื่อในหลวง ไม่ลักเล็กขโมยน้อย ไม่อิจฉาริษยา อยู่กันแบบญาติพี่น้อง ที่ว่ามีพ่อคนเดียวกัน เหมือนกับพ่อสร้างบ้านให้ลูกๆอยู่ คือเป็นพ่อบังเกิดเกล้า เป็นพ่อของประเทศ เป็นพ่อของแผ่นดิน ในหลวงไม่สบายลุงก็ไม่สบายใจ แต่ว่าเราไปไม่ได้ เราไม่มีจริงๆ ก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ในหลวงหายป่วย ลุงก็ติดตามผลอยู่ทุกวัน ดูในข่าวทีวีทุกวัน คือดูด้วยความสงบ เรามีความผูกพันในใจ ”
นี่คือความรู้สึกที่เฒ่าโอ๊ะได้บอกเล่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตัวแกเอง รวมทั้งชาวมอแกนและอาจหมายรวมไปถึงทุกๆชีวิตหลังจากที่ได้อาศัยร่มเงาจากบ้านของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่พวกเขาสุดแสนจะดีใจเมื่อรู้ว่า เป็นของในหลวง และเมื่อถามว่าลุงโอ๊ะประทับใจอะไรและอยากจะทำสิ่งใดเพื่อเจ้าของบ้านบ้าง ภาพใบหน้าชายชราที่เปื้อนด้วยน้ำตาอาบเต็มสองแก้ม กลับกลายเป็นคำตอบ ก่อนที่คำพูดจะหลุดออกมา
“ ในหลวงทำนบพังก่อนจะพูดทั้งน้ำตาลูกผู้ชายต่อว่าท่านไม่อยากเห็นประชาชนลำบาก ท่านเห็นว่าทุกคนคือลูกหลานท่านทั้งหมด ลุงปลื้มและประทับใจที่สุดในชีวิตของลุง ไม่ใช่ลุงคนเดียวนะ ทุกคนไม่ว่าไทยพุทธหรือไทยมอแกน ลุงจะทำแต่ในสิ่งที่ดี อยากให้ในหลวงอยู่กับคนไทย ชุมชนคนไทยเราไปให้นานที่สุด ให้พระองค์ไม่เจ็บไม่ไข้ เหมือนพ่อบังเกิดเกล้า ลุงก็อยากให้ในหลวงมีพระชนม์ยืนนาน มอแกนทุกคนรักในหลวงหมด คนไทยทุกคนรักในหลวง ” หลังคำพูดประโยคนี้จบลงหยาดน้ำตาบนเรือนแก้มของลุงโอ๊ะก็แห้งแล้ว เหลือเพียงคราบรอยที่พาดเป็นทางยาว แต่ดวงตาก็ยังคงแดงกล่ำอยู่ และเราก็เชื่อว่าค่าน้ำตาของลุงโอ๊ะที่หยดลงบนผืนดินผืนนี้จะได้ชโลมรดความรักและภักดีที่แกได้ปลูกเอาไว้แล้ว เพียงรอให้มันเติบโตพร้อมๆกับลูกหลานของแก ที่เราเชื่อเช่นนั้นก็เพราะเราได้ยินแว่วประโยคคำตอบสุดท้ายจากแกว่า ลุงจะอยู่ที่นี่ยาวเลย อยู่ไปยาว จนกว่าชีวิตลุงจะหาไม่ ลูกหลานลุงก็จะยังอยู่ที่นี่ อยู่จนชั่วโคตรของลุง!!!