- 08 ม.ค. 2560
ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th
ต้องจับตาหนึ่งประเด็นร้อนทางการเมือง ตามกำหนดการที่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไ ด้นัดประชุมสปท. ในวันที่ 9 ม.ค. เพื่อพิจารณารายงานการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่สำคัญ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง ซึ่งมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน กมธ.ฯ ได้เสนอรายงานเรื่อง การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
โดยมีข้อมูลว่ารายงานฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญถึงการปฏิรูปกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร แบ่งเป็น ในระบบของสภา ผู้แทนราษฎร หรือ วุฒิสภา ส่วนของการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในประเด็นปัญหาต่าง ๆ เสนอให้มีคณะกรรมการ กลั่นกรองกระทู้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกกระทู้ถามที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในระดับการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อนเข้าสู่การบรรจุในระเบียบวาระ เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ตั้งกระทู้ถามลักษณะที่สนับสนุนหรือประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล
ล่าสุด นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงการประชุม สปท.ในวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) ว่า กมธ.การเมืองจะเสนอรายงานปฏิรูป เรื่อง การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดย กมธ.มีแนวคิดว่า การตั้งกระทู้ถามในสภาและการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการเล่นปาหี่ เป็นแค่การแสดงทางการเมือง และมีแต่วาทกรรมเท่านั้น ขณะที่ญัตติหรือกระทู้ถามไม่ได้สามารถที่จะให้รัฐบาลไปแก้ไขข้อบกพร่องและปฏิบัติจริงได้ ดังนั้นสิ่งที่ กมธ.การเมืองต้องการคือ ต้องมีมาตรการที่ทำให้กระทู้ถาม ญัตติต่างๆ ที่เสนอ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน สามารถที่จะทำให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติได้จริง
โดยอาจจะทำให้เป็นข้อบังคับหรือกฎหมายเพื่อควบคุมให้ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างพูดเพื่อเอาผลทางการเมืองเท่านั้น รวมทั้งหากข้อมูลที่นำมาอภิปราย กล่าวหา ไม่เป็นความจริงจะต้องมีบทลงโทษกำหนดเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการยกระดับการประชุมสภาให้โปร่งใสและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกันนายวันชัย ยังพูดถึงในส่วนของบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดในคดีคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นกระแสข่าวออกมาก่อนหน้า ว่า เป็นข้อเท็จริงที่ กมธ.การเมืองจะเสนอให้ปรับเปลี่ยนอัตราการลงโทษ โดยคดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 100-1,000 ล้านบาท ให้จำคุกตลอดชีวิต และคดีที่สร้างความเสียหายเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องถูกลงโทษประหารชีวิต เพราะจะทำให้การบริการงานในโครงการต่างๆ ของทั้งข้าราชการ พนักงาน และนักการเมือง มีความระมัดระวัง ทำงานอย่างละเอียดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหากกระทำผิดส่วนใหญ่ก็จะโดนเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเท่านั้น ไม่ค่อยโดนความผิดทางอาญา ซึ่งครั้งนี้ กมธ.ได้เสนอให้เพิ่มความผิดทางอาญาควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้การลงโทษจะลงโทษผู้ร่วมกระบวนการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีผู้สั่งการ ข้าราชการและภาคเอกชน และตนเชื่อว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นหนึ่งในหัวข้อการปฏิรูปที่สำคัญในอนาคตได้
เรียบเรียง : ชัชรินทร์ สำนักข่าวทีนิวส์