ภตช.จี้สอบ 13 รองอธิการฯ ม.มหิดลชิงลาออก ก่อนระเบียบปปช.บังคับ ชี้ผู้บริหารม.รัฐมีฐานะดีผิดปรกติ แนะควรคุมไปถึงผล.ร.ร.แข่งขันสูง

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

 

สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ออกประกาศเพิ่มเติมตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยมีตำแหน่งรองอธิบการบดีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐรวบอยู่ด้วย  ทั้งหมดจะต้องมีการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินภายในวันที่ 3 เมษายน – 2 พฤษภาคมนี้  ปรากฏว่ามีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 13 คน ยื่นลาออกจากตำแหน่งก่อนคำประกาศมีผลบังคับใช้ไม่กี่วัน กระทั่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพราะไม่ต้องการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่

ล่าสุด วันนี้ ( 4 เม.ย.)   นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.)  ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เมื่อเกิดกรณีลักษณะนี้ขึ้น  ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ ป.ป.ช. จะออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติมให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปอีก 2-3 เดือน เพื่อให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะคิดว่าน่าจะยังมีรองอธิการบดีจากอีก 200 มหาวิทยาลัย เตรียมลาออกอีกจำนวนหนึ่ง โดยในวันที่ 5 เมษายน จะเดินทางไปยื่นให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบอดีตรองอธิการบดีทั้ง 13 คน

 

 

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ใหม่ของ ป.ป.ช. ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความจริงแค่เปิดเผยต่อ ป.ป.ช.ยังไม่พอ รองอธิการบดี ควรเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย ว่ามีเงินเข้า-ออกเท่าไหร่ ก่อนเข้าและหลังรับตำแหน่ง ควรจะมีการชี้แจง  แล้วปิดไว้ที่หน้ามหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้ดูว่าอาจารย์ของเรามีทรัพย์สินเท่าไหร่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

" บางทีคณาจารย์ก็มีเงินมากผิดปกติ  ตามประมวลกฎหมายรัชฎากร เงินได้ทางการศึกษาไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งอาจจะต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไป เรื่องการเก็บภาษีการศึกษาเกี่ยวกับการสอนพิเศษ ขณะนี้รายได้อธิการบดีบางมหาวิทยาลัยมีมากกว่าเงินเดือนของนายกรัฐมนตรี ประมาณ 20 เท่า นายกฯ มีเงินเดือนแสนสอง แต่อธิการบดีมีเงินเดือน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท ไม่รวมหลักสูตรพิเศษ  จ่ายเงินครบจบแน่ บางมหาวิทยาลัยมีเงินเดือน 7 แสน ไม่รวมค่าประธานหลักสูตรละหมื่นห้า เดือนหนึ่งมี 20 หลักสูตร ก็รับสามแสนบาท ปีหนึ่งๆ ได้กี่ล้านบาท เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ ป.ป.ช.ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง"   นายนายมงคลกิตติ์ กล่าว

 

นายมงคลกิตติ์  ยังเสนออีกว่า นอกจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยแล้ว ป.ป.ช.น่าจะออกระเบียบ ครอบคลุมไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนแข่งขันสูง ซึ่งเป็นระดับ 8 และ 9 ด้วย เพราะถ้าออกระเบียบในช่วงนี้ยังทัน ที่จะเป็นช่วงมีการฝากเด็กเข้าเรียน ในช่วงหลังเดือนมีนาคมเป็นต้นไป  ซึ่งหากระเบียบ ป.ป.ช.ที่ออกมาทำให้อธิการบดี รองอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยลาออกกันหมด  ไม่มีใครกล้ามาเป็นผู้บริหาร ให้เปิดรับสมัครเป็นแบบสรรหา และจ้างเอกชนที่เป็นผู้บริหารเฉพาะกิจไปบริหาร จ้างเป็นเงินเดือนแล้วเขาก็จะเสียภาษีที่ถูกต้อง รวมทั้งหากมีข้าราชการคนใดสามารถชี้แจงบัญชีทรัพย์สินได้ก็ให้ไปสมัคร 

" การเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ถ้าบริสุทธิ์ใจแล้ว จะชี้แจงตอนไหนก็ได้  ไม่จำเป็นต้องไปจัดทัพทรัพย์สิน รองอธิการบดีเองนอกจากเงินเดือน เงินสอนพิเศษ ยังมีเงินที่ปรึกษาบริษัทอีก  ซึ่งอาจจะผิดระเบียบ    โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ออกนอกระบบ อธิการบดีและรอง  มีฐานะดีผิดปกติกันทุกคน  ฉะนั้นต้องไปตรวจสอบ 13 รองอธิการบดีที่ลาออก  ป.ป.ช.ควรตรวจสอบย้อนหลัง ไม่ควรอ้างว่าเตรียมตัวไม่ทัน เพราะข้าราชการต้องพร้อมตลอดเวลา" นายมงคลกิตติ์ กล่าว