- 05 เม.ย. 2560
ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th
จังหวัดราชบุรี วัดขนอน วัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี ชาวโพธาราม ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี จัดงาน “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ ๑๒” ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ ศิลปิน แผ่นดินรัชกาลที่ ๙” พร้อมอันเชิญบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” มาเรียงร้อยบทละครอย่างสร้างสรรค์ โดยกลุ่มศิลปิน ๙ คณะ ๙ สาขาการแสดง เพื่อน้อมจิตร่วมถวายความอาลัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จัดขึ้นเทศกาลสงกรานต์ ๑๓-๑๔ เมษายน ๒๕๖๐ นี้ ณ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กล่าวว่า “หนังใหญ่” ถือว่าเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เป็น การแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ได้แก่ ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิง จิตรกรรมที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับฝีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์ การละคร ที่เคลื่อนไหวได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ทำให้ เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชม จนในปี ๒๕๓๒ ได้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์หนังใหญ่ตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวัดขนอนได้สร้างตัวหนังใหญ่ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทนหนังใหญ่ชุดเก่า ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ภายใน “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน” เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็น ๑ ใน ๖ ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม
ทั้งนี้ที่ผ่านมาโดย จังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี วัดขนอน และชาวอำเภอโพธาราม ได้ร่วมกันจัดงาน ”เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน” มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายกลุ่มศิลปินอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยจากทั่วทุกภูมิภาค มาร่วมกันถ่ายทอดงานศิลปะแขนงต่างๆ ร่วมกันส่งเสริมศิลปะของชาติ ให้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ ได้ชื่นชมและสัมผัสอย่างใกล้ชิด และปีนี้ “งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ ๑๒” ได้กลับมาอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ ศิลปิน แผ่นดินรัชกาลที่ ๙ “ มีที่มาเนื่องด้วยการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ต.ค. ๒๕๕๙ คนไทยทั้งประเทศและทั่วโลก ต่างก็ได้แสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ
“ดังนั้นในปีนี้ วัดขนอนและคณะศิลปิน จึงได้ร่วมน้อมใจถวายความอาลัยแด่รัชกาลที่ ๙ ด้วยการนำบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มาถ่ายทอด โดยกลุ่มอนุรักษ์ศิลปะการแสดงวัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน จากกลุ่มศิลปิน ๙ คณะ ซึ่งแต่ละคณะ ได้หยิบยกเนื้อหาบางช่วงบางตอนจากเรื่อง “พระมหาชนก” มาเรียงร้อยการแสดงอย่างสร้างสรรค์ ภายในงาน “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ ๑๒” จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน ๒๕๖๐ ณ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแสดงหนังใหญ่ โขน ละคร และมหรสพพื้นบ้านหลายแขนงมาร่วมแสดงกัน เราได้ศิลปินทั้ง ๙ คณะ ๙ สาขา มาร่วมกันรังสรรค์งานแสดงของการจัดงานในครั้งนี้ และสิ่งสำคัญสุด ยังจัดให้มีการแสดงหนังใหญ่ติดตัวโขน ตอน ‘พระรามครองเมือง’ เพื่อน้อมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ในโอกาสที่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติด้วย”
เจ้าอาวาสวัดขนอน กล่าวว่า ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่วัดขนอน ได้แกะหนังใหญ่ชุดใหม่สำหรับใช้แสดงในบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” โดย ช่างหมู - อ.จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูฝึกและแกะหนังใหญ่คณะหนังใหญ่วัดขนอน ได้วางตัวหนังที่จัดเป็นตัวละครหลัก และอื่นๆ อีกประมาณ ๑๒ ตัว ได้ทำการแกะขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเพื่อการแสดงครั้งนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งองค์ประกอบฉากทะเลตัวเล็กๆ อีกหลายตัว เช่น ปู ปลา และฉากที่ต้องแกะขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน เพื่อน้อมถวายความอาลัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่ ร.๙ นับเป็นครั้งแรกของการแสดงหนังใหญ่ที่จัดแสดงนอกเหนือจากเรื่องรามเกียรติ์ด้วย
ด้าน อ.จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ครูช่างศิลหัตถกรรม ปี ๒๕๕๙ สาขาเครื่องหนัง ครูฝึกและแกะหนังใหญ่ คณะหนังใหญ่วัดขนอน กล่าวถึง การสร้างตัวหนังเพื่อการแสดงในครั้งนี้ว่า มีแนวความคิดมาจากการรวมกลุ่มนักแสดงทั้ง ๙ คณะ มาร่วมแสดงในเรื่องเดียวกันคือ “พระมหาชนก” โดยหนังใหญ่วัดขนอนได้แสดงในตอนสำคัญของเรื่องคือ ตอนเรือแตก และตอนเมขลา จึงเริ่มคิดแบบและแกะตัวหนังที่เป็นตัวละครนางมณีเมขลาขึ้นมาเป็นตัวหลักก่อน นับเป็นนิมิตรหมายอันดีของคณะหนังใหญ่วัดขนอนที่ได้สร้างตัวหนังขึ้นมา เพื่อวาระโอกาสพิเศษนี้ ซึ่งจากการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้การคิดรูปแบบงานเริ่มยากขึ้น จะใช้รูปแบบเดิมๆ ไม่ได้ ในแต่ละปีต้องคิดหาโจทย์ที่น่าสนใจขึ้นกว่าเดิม
“ปีนี้ เราได้จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ศิลปะ ศิลปิน แผ่นดินรัชกาลที่ ๙’ คือ การทำถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทุกคณะศิลปินจึงใช้ความสามารถด้านศิลปะทำเพื่อถวายอาลัยพระองค์ท่านอย่างดีที่สุด อย่างตัวหนังที่สร้างขึ้นนี้จึงเป็นตัวหนังชุดใหม่และชุดสุดท้ายของแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงในชุด “พระรามครองเมือง” เพื่อเทิดพระเกียรติ ร.๑๐ โดยจะเป็นการเล่นหนังใหญ่แบบโบราณ ด้วยการเผากะลาเล่นไฟ ใช้แสงไฟแสดงแสงสีเสียง ศิลปะแสงเงาอย่างสวยงาม ซึ่ง “งานเทศกาลหนังใหญ่ วัดขนอน” เปรียบเสมือนแหล่งรวบรวมศาสตร์และศิลป์อันงดงามที่ผู้ชมสามารถรับชม และสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของงานวัฒนธรรมนี้ ได้อย่างเต็มอิ่ม ตลอดจนปีนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของ ๙ คณะศิลปิน ซึ่งอาจไม่ได้มีการแสดงในรูปแบบอย่างนี้อีกแล้ว และแน่นอนว่าตัวหนังใหญ่ที่แกะชุดใหม่ขึ้นมาเหล่านี้ก็จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ และเก็บรักษาไว้ให้คนไทยได้ศึกษา เรียนรู้ และร่วมกันรักษาต่อไป”
อ.กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ
อาจารย์กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม "artistic director งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน" กล่าวว่า ได้น้อมรำลึกและถวายความอาลัยแด่ รัชกาลที่ ๙ ด้วยการน้อมนำอันเชิญบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มาถ่ายทอดเป็นศิลปะนาฎกรรม โดยกลุ่มอนุรักษ์ศิลปการแสดงทางวัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน จาก ๙ ศิลปิน ๙ คณะ มาทำเป็นบทละครแสดงอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ คณะหนังตะลุง และคณะมโนราห์ ดิเกร์ฮูลู โดยอาจารย์วาที ทรัพย์สิน (ทายาทศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง อ.สุชาติ ทรัพย์สิน) จ.นครศรีธรรมราช การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะคำนายและคณะนาฎยบูรพา คณะแสดงหุ่นคนแม่เพทาย คณะแสดงกลุ่มยายกับตา คณะดอกไม้บันเทิง โดยอาจารย์วรรณศักดิ์ ศิริหล้า กลุ่มการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย (กฤษณ์ทีม) การแสดงจากศิษย์ศิลปากร และคณะหนังใหญ่วัดขนอน
“เป็นการน้อมจิตรวมใจครั้งสำคัญ ของศิลปินแต่ละคณะได้มาร่วมแสดง “พระมหาชนก” ซึ่งศิลปินแต่ละคณะจะเลือกตอนที่แต่ละคณะถนัดแล้วนำมาร้อยประสานแต่ละบทละครให้มีความสอดคล้องกัน ผสมผสานเพื่อให้เกิดอรรถรส ทำให้คนดูได้ดูศิลปะการแสดงที่มีสีสันงดงาม มีความร่วมสมัย และมีการร้อยเรียงศิลปะแต่ละแขนงได้อย่างต่อเนื่องน่าติดตามยิ่งขึ้น ซึ่งการแสดงแต่ละตอน เราได้ปรับตามความเหมาะสมกับนักแสดงคณะศิลปินทั้ง ๙ กลุ่มโดยแบ่งบทแบ่งตอนของเนื้อหาแล้วนำมาแสดงเรียงร้อยต่อเนื่องได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน โดยมิได้มีการดัดแปลงบทพระราชนิพนธ์แต่อย่างใด และผู้ชมจะได้รับสาระเรื่องราวที่ครบถ้วนสมบูรณ์เช่นเดิม”
ขณะที่ นายวิศรุต อินแหยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี ได้กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า วันงานได้เนรมิตบรรยากาศในวัดแบบย้อนยุค ทั้งศิลปะการแสดงพื้นบ้าน การจัดแสดงทางวัฒนธรรม ๔ ภาค อาหารพื้นบ้าน การแต่งกาย รวมทั้งการจัดร้านต่างๆ โดยจำลองบรรยากาศการซื้อขายแบบโบราณด้วยเงินพดด้วงสำหรับการจับจ่ายใช้สอยภายในงาน ไฮไลท์สำคัญเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย พร้อมกันนี้ได้จัดประกวดและมอบรางวัลแด่ผู้แต่งกายย้อนยุคยอดเยี่ยม เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวและร่วมรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยคาดว่า “เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ครั้งที่ ๑๒” จะเป็นอีกงานสำคัญ ที่สร้างสีสันงานเทศกาลสงกรานต์ให้กับจังหวัดราชบุรี ตลอดจนช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนให้ท้องถิ่นในช่วงดังกล่าว จากการบริการที่พัก การค้าขาย และการเดินทางท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ใกล้เคียงอีกด้วย
สนใจร่วมงาน “งานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน” ครั้งที่ ๑๒ ประจำปี ๒๕๖๐ จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๕๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ณ ลานกลางแจ้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คณะจัดงานฯ นายจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ๐๘๙ ๔๕๙ ๖๗๓๒ นางสาวประทุมรัตน์ อิ่มคำ ๐๙๑ ๘๕๖ ๕๙๕๖ นางสุริสา อาศุศิริ ๐๙๒ ๖๐๕ ๖๔๔๕ หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/WatKhanonNangYai