- 26 เม.ย. 2560
จัดซื้อ"เรือดำน้ำ"จำเป็นต่อชาติ โหนกระแสต้าน?! จำได้ไหมสมัย"ทักษิณ"ซื้อเครื่องบิน"ไทยคู่ฟ้า"ประจำตำแหน่งนายก ..มีประโยชน์ต่อประเทศ??
การเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา สำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำYuan Class S26T จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท ภายหลัง ครม.เห็นชอบโครงการฯไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 โดยเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ผูกพันงบประมาณของกองทัพเรือ 7 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกองทัพเรือ เพื่อเพิ่มศักยภาพการป้องกันผลประโยชน์ชาติทางทะเล ส่วนที่ไม่ได้มีการชี้แจงก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ไม่ได้ต้องการปิดบัง แต่เมื่อสื่อมวลชนสอบถาม ก็พร้อมจะชี้แจง แต่ถึงอย่างไรก็ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา ว่ามีการอนุมัติซุ่มเงียบ แต่ทางรัฐบาลก็ได้ออกมาบอกว่าไม่มีลับลมคมในอย่างแน่นอน
หรือบรรดาคนจำนวนหนึ่งที่เชียร์ทักษิณ ชินวัตร ออกมาพูดกันเหลือเกินนะว่าเอาเงินไปสร้างโรงพยาบาล สร้างถนน สร้างการศึกษา อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยอ้างเหตุผล 3ข้อ คือ (1) ประเทศกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจจึงควรใช้เงินเพื่อปากท้องของประชาชนมากกว่านำไปซื้ออาวุธ (2) ส่วนที่อ้างว่ามีภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่เป็นความจริง เพราะไทยตั้งอยู่ท่ามกลางมิตรประเทศที่ไม่ได้มีปัญหาชายแดนและกำลังจะรวมเป็นประชาคมอาเซียน และ (3) รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพราะมาจากการรัฐประหาร จึงไม่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนและอยู่ในโรดแมปช่วงสุดท้ายอันถือเสมือนเป็นรัฐบาลรักษาการจึงไม่ควรดำเนินโครงการที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลหน้า แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำกลับสวนทางและทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้นเริ่มจากซื้อรถถังตามด้วยอนุมัติสองขั้นให้พรรคพวกจากนั้นแอบซื้อเรือดำน้ำ
ทั้งหากยังจำกันได้ ในยุคที่นายทักษิณ ชิยวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดซื้อเครื่องบินประจำตำแหน่ง โดยใช้ชื่อว่า "ไทยคู่ฟ้า" ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนแรกและคนเดียวที่มีเครื่องบินประจำตำแหน่ง
เครื่องบิน "ไทยคู่ฟ้า" ถือกำเนิดจากมติ ครม.วันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ให้ทำการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส 319 ด้วยการแลกเปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งซุปเปอร์พูม่า MK2 จำนวน 2 ลำ มูลค่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแลกกับเครื่องบินลำดังกล่าวในราคา 51 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนต่าง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นงบฯผูกพันปี 2546 จำนวน 109 ล้านบาท และปี 2547 จำนวน 1.117 พันล้านบาท
ภายในห้องผู้โดยสารเครื่องบินลำนี้ออกแบบอย่างหรูหรา โดยมีการปรับขนาดจากเครื่องบิน 151 ที่นั่ง ให้เหลือเพียง 36 ที่นั่ง เพื่อความสะดวกสบาย แบ่งเป็นส่วนของห้องพักนายกรัฐมนตรี ที่มีห้องอาบน้ำแบบฝักบัว มีที่นั่งยาวขนาดโซฟาตัวเขื่อง 3 ที่นั่ง สามารถปรับเป็นเตียงนอนได้ พร้อมที่นั่งแบบวีไอพี 2 ที่นั่งในฝั่งตรงข้าม จากนั้นเป็นห้องประชุมขนาด 6 ที่นั่ง แบ่งเป็นฝั่งขวา 4 ที่นั่ง ฝั่งซ้าย 2 ที่นั่ง มีโต๊ะอยู่ตรงกลาง
ถัดไปจะเป็นห้องพักนายทหารติดตามระดับนายพล และมีส่วนสำหรับผู้ติดตามซึ่งเป็นที่นั่งแบบชั้นธุรกิจ 12 ที่นั่ง และแบบประหยัดอีก 12 ที่นั่ง ภายในเครื่องบินลำนี้ถูกตกแต่งอย่างหรูหรา สไตล์สีเอิร์ธโทน (สีธรรมชาติ เช่น สีขาว สีเนื้อ) มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัย สามารถติดต่อได้กับทุกน่านฟ้า และมีเครื่องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยการสื่อสารภายในจะเชื่อมต่อกับระบบดาวเทียมทำให้ใช้โทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา
วันที่ 22 ตุลาคม 2547 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือชี้แจงความชัดเจนของเครื่องบินลำนี้ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดซื้อไว้ใช้สำหรับรองรับภารกิจ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ยศในขณะนั้น )และคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่าง ๆ อาทิการต้อนรับบุคคลสำคัญที่เป็นแขกของรัฐบาล การเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้ชื่อประจำเครื่องบินลำนี้ว่า “ไทยคู่ฟ้า” และใช้ตราสัญลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามต้องลองพิจารณา ลองทบทวนกันดู อันนี้ไว้ป้องกันประเทศนะครับ ต้องพิจารณาดูความจำเป็นข้อมูลหลั่งไหลที่ออกมาตอนนี้ว่าประเทศนอกบ้านเพื่อนบ้านของเราล้วนแต่มีเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นการเสริมสภาพเขี้ยวเล็บทางทะเล