- 29 มิ.ย. 2560
ติดตามรายละเอียด http:www.tnews.co.th
หลายต่อหลายครั้ง มักมีเหตุการณ์น่าสลดให้เห็นใจอยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือชีวิตเบื้องตน เนื่องจากใครที่อยู่ในเหตุการณ์ขาดความรู้ในการทำ CPR หรือที่เรียกกันว่า วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ช่วยคืนชีวิตแก่ผู้ประสบเหตุ ในกรณีที่หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น ดังนั้นขั้นตอนการทำ CPR ที่ถูกต้องจึงควรเป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะศึกษาติดตัวเอาไว้ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุกับคนรอบข้าง หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีผู้ประสบเหตุ ก็สามารถที่จะช่วยเหลือชีวิตคนเหล่านั้น ไว้ได้ทันท่วงที
Cardiopulmonary Resuscitation หรือเรียกง่ายกันๆ ว่า "CPR" คือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจ และมีการไหลเวียนออกซิเจน รวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร โดยเราสามารถทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานให้ผู้ประสบเหตุได้โดยการผายปอด และการปั๊มหัวใจภายนอก
โดยอาการของผู้บาดเจ็บที่ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วยการทำ CPR สังเกตได้ ดังต่อไปนี้
1. ไม่รู้สึกตัว
2. ไม่หายใจ
3. หัวใจหยุดเต้น
วิธีการทำ CPR ที่ถูกต้อง
แนวทางการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญที่ควรทำตามลำดับ A B C ดังนี้
1. A : Airway หมายถึง การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง ซึ่งเป็นการปฎิบัติขั้นแรกที่สำคัญเป็นอย่างมาก ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะโดยมากผู้บาดเจ็บที่หมดสติจะมีภาวะโคนลิ้นและกล่องเสียงตกลงไปอุดทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นจึงต้องเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เริ่มจากผู้ช่วยเหลือขยับไปอยู่เหนือศีรษะผู้บาดเจ็บ แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างหนึ่งวางไว้ใต้คาง ร่วมกับใช้มืออีกข้างกดหน้าผาก เพื่อดันให้ใบหน้าผู้บาดเจ็บหงายขึ้น เปิดขากรรไกรให้ตั้งตรง
2. B : Breathing หมายถึง การช่วยให้ผู้บาดเจ็บกลับมาหายใจอีกครั้ง โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้
-การผายปอด เริ่มจากบีบจมูกของผู้บาดเจ็บ แล้วผู้ช่วยเหลือสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ สัก 2-3 ครั้ง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าปอดเต็มที่แล้ว ให้ประกบปากตัวเองกับผู้บาดเจ็บแล้วปล่อยลมหายใจเข้าไปในปอดผู้บาดเจ็บให้เต็มที่ แล้วจึงถอนปากออกมาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บหายใจออก ทั้งนี้การผายปอดควรทำประมาณ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-1.5 วินาที และอัตราเร็วในการเป่า คือ 12-15 ครั้ง/นาที ซึ่งจะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับการหายใจปกติของคนเรา
-การเป่าจมูก ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีอาการบาดเจ็บที่ปาก หรือในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ให้ใช้วิธีปิดปากผู้บาดเจ็บแล้วปล่อยลมหายใจของเราเข้าทางจมูกผู้บาดเจ็บแทน โดยอัตราการเป่าก็เหมือนกับการผายปอดทุกประการ ทั้งนี้การผายปอดและการเป่าจมูก ระหว่างที่ทำควรเหลือบมองยอดอกของผู้บาดเจ็บด้วยว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ และการเป่าลมหายใจของผู้ช่วยเหลือผ่านทางปากหรือจมูก จะต้องทำอย่างช้าๆ และค่อยๆ ทำ
3. C : Circulation หมายถึง การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีการไหลเวียนของเลือดในร่างกายอีกครั้งหนึ่ง โดยวิธีปั๊มหัวใจที่เปรียบเสมือนการปั๊มหัวใจภายนอก ซึ่งเราจะใช้วิธีนี้ในกรณีจับชีพจรของผู้บาดเจ็บไม่ได้ ปลุกผู้บาดเจ็บแล้วไม่ฟื้น และตรวจสอบแล้วว่าหัวใจของผู้บาดเจ็บหยุดเต้น ทั้งนี้หลักในการปั๊มหัวใจ คือ ต้องกดให้กระดูกหน้าอก (Sternum) ลงไปชิดกับกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้หัวใจที่อยู่ระหว่างกระดูกทั้งสองอันถูกกดไปด้วย ทำให้มีการบีบเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย เสมือนการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งมีขั้นตอนในการปั๊มหัวใจตามนี้
วิธีการปั๊มหัวใจ
1. ให้ผู้บาดเจ็บนอนราบกับพื้นแข็งๆ หรือใช้ไม้กระดานรองที่หลังของผู้บาดเจ็บ ผู้ปฐมพยาบาลคุกเข่าลงข้างขวาหรือข้างซ้ายบริเวณหน้าอกผู้บาดเจ็บ คลำหาส่วนล่างสุดของกระดูกอกที่ต่อกับกระดูกซี่โครง โดยใช้นิ้วสัมผัสชายโครงไล่ขึ้นมา (หากคุกเข่าข้างขวาใช้มือขวาคลำเพื่อหากระดูกอก แต่หากคุกเข่าข้างซ้ายให้ใช้มือซ้ายคลำ)
2. วางนิ้วชี้และนิ้วกลางตรงตำแหน่งที่กระดูกซี่โครงต่อกับกระดูกอกส่วนล่างสุด วางสันมืออีกข้างบนตำแหน่งถัดจากนิ้วชี้และนิ้วกลางนั้น ซึ่งตำแหน่งของสันมือที่วางอยู่บนกระดูกหน้าอกนี้จะเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องในการปั๊มหัวใจต่อไป
3. วางมืออีกข้างทับลงบนหลังมือที่วางในตำแหน่งที่ถูกต้อง แล้วเหยียดนิ้วมือตรง จากนั้นเกี่ยวนิ้วมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน แล้วเหยียดแขนตรง โน้มตัวตั้งฉากกับหน้าอกผู้บาดเจ็บ ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนขณะกดหน้าอกผู้บาดเจ็บ ให้กระดูกลดระดับลง 1.5-2 นิ้ว เมื่อกดสุดให้ผ่อนมือขึ้นโดยที่ตำแหน่งมือไม่ต้องเลื่อนไปจากจุดที่กำหนด และขณะกดหน้าอกปั๊มหัวใจ ห้ามใช้นิ้วมือกดลงบนกระดูกซี่โครงผู้บาดเจ็บ
4. เพื่อให้ช่วงเวลาการกดแต่ละครั้งคงที่ และจังหวะการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจพอเหมาะกับที่ร่างกายต้องการ ให้ใช้วิธีนับจำนวนครั้งที่กด ดังนี้...หนึ่ง และสอง และสาม และสี่ และห้า...โดยกดทุกครั้งที่นับตัวเลข และปล่อยตอนคำว่า “และ” สลับกันไป ให้ได้อัตราการกดประมาณ 100 ครั้งต่อนาที
5. ถ้าผู้ปฏิบัติมีคนเดียว ให้ปั๊มหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับทำการผายปอด 2 ครั้ง ทำสลับกันเช่นนี้จนครบ 4 รอบ แล้วให้ตรวจชีพจรและการหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ต้องปั๊มหัวใจต่อ แต่ถ้าคลำชีพจรได้และยังไม่หายใจ ก็ผายปอดต่อไปอย่างเดียว
6. ถ้ามีผู้ปฏิบัติ 2 คน ให้ปั๊มหัวใจ 5 ครั้ง สลับกับการผายปอด 1 ครั้ง โดยขณะที่ผายปอด อีกคนหนึ่งต้องหยุดปั๊มหัวใจ
7. สำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กอ่อน การปั๊มหัวใจให้ใช้เพียงนิ้วหัวแม่มือกดกลางกระดูกหน้าอกให้ได้อัตราเร็ว 100–120 ครั้งต่อนาที โดยใช้นิ้วมือโอบรอบทรวงอกสองข้างแล้วใช้หัวแม่มือกด
ทั้งนี้ในการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ควรต้องทำตามข้อบ่งชี้สำคัญดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัดด้วย
- ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจ โดยที่หัวใจยังคงเต้นอยู่ประมาณ 2-3 นาที ให้ผายปอดทันที ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อสมองขาดออกซิเจนได้อย่างถาวร
- ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน การช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการทำ CPR ทันทีจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจนได้ โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อเยื่อสมอง
และการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งก็ควรต้องช่วยเหลือเขาอย่างระมัดระวัง และหากมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่ก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนนะคะ เพราะหากช่วยผิดวิธีอาจทำให้หัวใจช้ำ กระดูกหัก รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ ตกเลือดได้ และขอเตือนว่าอย่าลองไปทำ CPR กับคนที่ไม่มีอาการบาดเจ็บหรือหมดสติ โดยเฉพาะการปั๊มหัวใจ เพราะอาจทำให้จังหวะหัวใจของคนที่โดนปั๊มเต้นผิดจังหวะไป ซึ่งอาจส่งผลด้านสุขภาพต่อไปในอนาคตได้
หากมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจชนิดอัตโนมัติ หรือ เออีดี ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้เช่นกัน โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันด้วยการใช้เครื่องเออีดี มาให้เราได้ลองศึกษากันค่ะ แต่ถ้าหากประเมินดูแล้วผู้ป่วยมีอาการหนักเกินกว่าที่เราจะช่วยเหลือได้ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์เอราวัณ (เฉพาะในพื้นที่ กทม.) โทร. 1646, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 (ทั่วประเทศ)
ขอขอบคุณข้อมูล :การไฟฟ้านครหลวง , คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ,urnurse , Kapook.com