- 09 ส.ค. 2560
ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th
จากกรณีที่วันนี้(9ส.ค.) ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนายสมบัติ ได้ยื่นคำร้องขอฎีกาคดีเพราะเห็นว่าในชั้นอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษาโดยนำข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กลับมาพิจารณาลงโทษจำคุกอีกซึ่งเดิมศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องในข้อหานี้ไปแล้วและมีการเพิ่มโทษนั้น
ทั้งนี้นายสมบัติ เห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า คสช. ได้ยึดอำนาจสำเร็จและมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น การที่ คสช. ได้อำนาจปกครองมานั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จะถือว่าได้อำนาจมาโดยสำเร็จและมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ และการตีความรับรองการรัฐประหารว่ามีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยดูเพียงว่ามีคณะทหารกลุ่มหนึ่งใช้กำลังเข้ายึดครองและประกาศว่ายึดอำนาจสำเร็จ จะก่อให้เกิดผลแปลกประหลาดเพราะจะทำให้การปกคอรงแผ่นดินไม่มีความมั่นคงแน่นอน ผลัดเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย เพราะสถานะของคณะรัฐประหารมีความไม่แน่นอนว่าจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือกบฏ เพราะอาจจะเกิดการต่อต้านจนการรัฐประหารล้มเหลว
โดยศาลอุทธรณ์พิจารณาว่ากฎหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีนี้จึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด แต่จำเลยเห็นว่าเมื่อคสช.ไม่ได้ทำรัฐประหารเสร็จโดยทันที การออกประกาศคำสั่งต่างๆ จึงไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ศาลจะนำรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณาให้ประกาศและคำสั่ง คสช. มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้การกระทำของนายสมบัติที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่มีความผิดทางอาญากลับเป็นมีความผิด ซึ่งจะเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้ใช้เป็นการทั่วไป
อย่างไรก็ตามคดีนี้เนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30มิ.ย.2559 แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง และประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3, 000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี และล่าสุดวันนี้ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ปรับ 3,000 บาท จำคุก2เดือน โทษจำคุกรอลงอาญาไว้1ปี