- 23 พ.ย. 2560
FB : DEEPS NEWS
จากกรณีนายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พิจารณาคดีต่างๆ ล่าสุดตรวจสอบคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกลุ่มนักการเมือง, ข้าราชการ และเอกชน รวม 27 ราย ร่วมทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น มีจำเลยที่หลบหนีระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาฯ 2 คน คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และนายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 ทั้งนี้ ทราบจากคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบคดีระบายข้าวจีทูจีว่า จะเสนออัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกัน
ขณะที่นายกิตินันท์ ธัชประมุข อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หนึ่งในคณะทำงานอัยการรับผิดชอบจำนำข้าวและระบายข้าวจีทูจี กล่าวถึงความคืบหน้าการอุทธรณ์ระบายข้าวจีทูจีว่า หลังจากที่คณะทำงานอัยการเสนอความเห็นทางคดีต่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอัยการสูงสุดเห็นชอบการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าว คณะทำงานอัยการจึงได้ยื่นคำอุทธรณ์คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว หลังจากนี้ศาลจะดำเนินการส่งคำอุทธรณ์ให้จำเลยทำคำแก้อุทธรณ์ต่อไป
“ประเด็นการยื่นอุทธรณ์ว่า อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีในส่วนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 (จำคุก 42 ปี) ซึ่งอัยการเห็นว่าการกระทำของนายบุญทรงยังมีความผิดที่มีส่วนร่วมอนุมัติแก้ไขสัญญาระบายข้าวฉบับที่ 1 ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญหลายครั้ง แม้ว่าสัญญาระบายข้าวจะเริ่มมาก่อนที่นายบุญทรงจะเข้ารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ จึงให้ศาลพิพากษาลงโทษเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วยจากโทษที่ได้ตัดสินไว้แล้ว
รวมทั้งอุทธรณ์ส่วนของ น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง กับ น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 11-12 (จำคุก 16 ปี) ผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งอัยการเห็นว่าที่ศาลลงโทษไว้นั้นเบาไป เนื่องจากอัตราโทษเท่ากับกลุ่มจำเลยที่นำส่งเอกสารการขึ้นแคชเชียร์ โดยเจตนาในการกระทำของจำเลยทั้งสองชัดเจนกว่าที่ได้ร่วมกระทำผิดสั่งดำเนินการ และอุทธรณ์อีกกลุ่ม คือเอกชนที่เป็นโรงสีข้าว จำเลยที่ 22-28 (ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร โดยนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ, นายทวี อาจสมรรถ, บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ, บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด โดยนายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการ, นายปกรณ์ ลีศิริกุล, บริษัท เจียเม้ง จำกัดโดยนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการ และนางประพิศ มานะธัญญา ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไป” นอกจากนี้ อัยการยังได้ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของอำนาจเรียกร้องสิทธิค่าเสียหายจากจำเลยในฟ้องคดีอาญานี้ ซึ่งศาลได้ยกฟ้องในส่วนของกระทรวงพาณิชย์, กรมการค้าต่างประเทศ, องค์การคลังสินค้า (อคส.), องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ด้วย