- 07 ม.ค. 2561
"ประชาธิปัตย์"จวก"คสช." วางแผนสืบทอดอำนาจเป็นอย่างดี!! ตั้งแต่หลังการปฏิวัติ จนถึงปัจจุบัน คาดอาจใช้ ม.44 ขจัดอุปสรรค!!??
เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับชีวิต “การทำงาน” ในปี 2561 ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่ได้ออกยอมรับแบบไม่เหนียมแล้วว่าเป็น “นักการเมือง” แม้จะมีสร้อยต่อก็ตามทีว่า
“ผมเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร และอีกหน่อยก็จะเป็นประชาชน ผมไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมืองสักวัน แต่ที่ต้องเป็น เพราะด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่เข้ามาทำงานให้กับประเทศ”
และก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เพราะเมื่อ4 ธ.ค. ในบรรยากาศเลี้ยงปีใหม่กับบันดานักข่าวสายทำเนียบฯ ในช่วงหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าว่า
"กรณีที่ไม่เคยให้ความชัดเจนการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือการลงเล่นการเมืองว่า สื่อย่อมรู้คำตอบดี ว่าพูดไปก็จะเป็นการตัดทาง เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ก็ถือว่าตามระบบ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ หากพรรคการเมืองไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีกันเองได้ในสภา รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางให้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกได้"
จากนั้นก็ามมาด้วยเสียงวิจารณ์ต่างๆนาๆ ล่าสุดเป็นทางด้านของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะการประกาศแนวทางการเมืองของนายกฯครั้งนี้ น่าจะผ่านการกลั่นกรองเตรียมการมาแล้วเป็นอย่างดี ที่จะดำเนินการทางยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ ที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติรัฐประหาร จนกระทั่งถึงปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนการหลักๆ ผ่านแม่น้ำ 5 สาย ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช. และมีการดำเนินการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบมาตามลำดับ ดังนี้
1.กรธ.จัดทำรัฐธรรมนูญ ที่เอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจด้วยการให้มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้
นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่สนับสนุนการทำงานหลังจากสืบทอดอำนาจ
2.มีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ และการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ และใช้อำนาจต่อไปในอนาคต
3.ถึงแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้แล้วก็ไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ จากนั้นก็ใช้ ม. 44 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสาระของกฎหมายพรรคการเมืองโดยเฉพาะการรีเซ็ตสมาชิกพรรคทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการของการนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ
4.การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดรับการสืบทอดอำนาจหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตั้งคำถามประเด็นการเมือง ให้ประชาชนตอบทั้ง 4 ข้อ และคำถาม 6ข้อ รวมถึงการลงพื้นที่ ที่มีความถี่สูง มีการอัดฉีดเม็ดเงินในการผลักดันโครงการต่างๆ จำนวนมาก
5.เครือข่ายของผู้มีอำนาจหลากหลายฝ่ายได้เดินสาย ขยายฐานรวบรวม นักการเมือง พรรคการเมือง รวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นฐานรองรับการเข้าสู่อำนาจตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ
นายองอาจ กล่าวต่อว่า การประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มาจากทหาร และไม่ปิดทางตนเองในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการเดินไปสู่เป้าหมายในการสืบทอดอำนาจ และเชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป อาจมีการใช้ ม.44 และใช้อำนาจต่างๆ เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่การจะดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยหลายประการ
“ปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง คือ การใช้อำนาจในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ หลังจากนี้ไปจะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าท่านนายกฯ และรัฐบาล รวมทั้งบริวารแวดล้อมของท่านตั้งใจทำงาน ใช้อำนาจเพื่อส่วนรวม ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแต่อย่างใด แต่ถ้าใช้อำนาจเพื่อตนเอง และพวกพ้องปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ หนทางแห่งการสืบทอดอำนาจก็อาจจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไปตามใจปรารถนาก็ได้”