- 21 ก.พ. 2561
ติดตามรายละเอียด : FB. Deeps News
ใครจะรู้ว่า “ตะเกียบ” ที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่เป็นประจำในหลายๆ มื้ออาหาร จะแฝงด้วยภัยร้ายที่สามารถสะสมและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้..!!
โดยนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตะเกียบไม้ที่นิยมใช้กันแพร่หลายในไทย มักทำจากไม้ไผ่ ไม้โมกข์ และไม้ฉำฉา ซึ่งบางครั้งอาจมีการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกเนื้อไม้ให้เป็นสีขาวและป้องกันเชื้อรา
อย่างไรก็ตาม หากใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณน้อยจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แพ้ง่าย เช่น ทำให้เกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก คันคอ หรือเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพองได้
ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้ตะเกียบในการบริโภคอาหารเป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ตะเกียบที่มีเนื้อไม้ขาวจัด และมีกลิ่นฉุน หรือหากต้องใช้ตะเกียบชนิดดังกล่าวในการกินของร้อนๆ สามารถป้องกันได้ด้วยการแช่ในน้ำร้อนประมาณ 3-4 นาที ก่อน และควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการตรวจการตกค้างของสารฟอกขาวในตะเกียบในช่วงเดือนเมษายน 2559 นี้ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายทั้งตลาดสด ตลาดค้าส่ง และค้าปลีก เพื่อตรวจวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบ สำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์ หรือสารฟอกขาวที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ รา แบคทีเรีย หากใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณที่พอเหมาะจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคทั่วไป
โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดค่าการบริโภคซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในแต่ละวัน ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ถ้าคนๆ นั้นน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม จะรับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระดับที่ปลอดภัยได้ 42 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในตะเกียบ แต่เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังและตรวจวิเคราะห์อาหารแห้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังพบว่ามีสารฟอกขาวซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างอยู่ในอาหารแห้ง เช่น ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เก๋ากี้ และยังตรวจพบในอาหารกลุ่มผัก-ผลไม้แห้ง ถั่วงอก แป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงน้ำตาลปี้บอีกด้วยนะคะ และปัจจุบันพบว่า มีการนำสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ การนำไปใช้เป็นสารฟอกสีในพืชผักสด เช่น หัวไช้-เท้าสด ขิง หน่อไม้ และ ถั่วงอก เป็นต้น