- 26 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
นานจนคนไทยเกือบลืม?! เกือบจะ 10 ปีเพิ่งฟ้อง-อัยการสั่งฟัน 10 หัวโจกแดง ปลุกระดมล้ม"อภิสิทธิ์" ปี 52 ผ่านไปเบ็ดเสร็จเกือบทศวรรษ ขณะ "เต้น" ยังกล้าโวย...ฟ้องซ้ำซ้อนล้มประชุมอาเซียน
วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. ผ่านมา พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 ได้นำตัว นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมแกนนำ นปช. คนอื่นๆ รวม 10 คน มายื่นฟ้องต่อศาลเป็นจำเลย 1-10 จากกรณีการจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552
โดย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ จำเลยที่ 1 นายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยที่ 3 นพ.เหวง โตจิราการ จำเลยที่ 4 นายสิระ หรือสรวิชญ์ พิมพ์กลาง แกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร จำเลยที่ 5 นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท จำเลยที่ 7 นายพิพัฒน์ชัย หรือสมชาย ไพบูลย์ จำเลยที่ 8 และนายพายัพ ปั้นเกตุ จำเลยที่ 9 ถูกยื่นฟ้อง 3 ข้อหา ในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ส่วน นายณรงศักดิ์ มณี จำเลยที่ 6 ถูกฟ้องในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ และ นายพงศ์พิเชษฐ์ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 10 ถูกฟ้องฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง ให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการ
ตามคำฟ้องสรุปว่า ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม นปช. ขึ้นมา โดยมี นายวีระกานต์ จำเลยที่ 1 กับแกนนำได้นัดรวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวกันตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2552 เรื่อยมากระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2552 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ รวมถึงมีผู้ชุมนุมบางส่วนบุกไปยังบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อกดดันให้ พล.อ.เปรม พร้อมด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากองคมนตรี
กระทั่งวันที่ 9 เมษายน 2552 แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้กระจายกำลังไปปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่งใน กทม. รวมทั้งการปิดกั้นจราจรในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศไว้ ก่อนที่การชุมนุมจะทวีความรุนแรงขึ้น จน นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่แกนนำยังคงปราศรัยปลุกระดมยุยงที่เวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ มีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ, ยึดและเผารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ กทม. และนำรถบรรทุกแก๊สไปจอดไว้กลางถนน เพื่อข่มขู่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และประชาชนเดือดร้อนเสียหาย โดยกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ท้ายฟ้องอัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษของนายวีระกานต์, นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง และนายวิภูแถลง ในคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายด้วย
โดยศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.968/2561 และนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 10 คนในวันที่ 27 มีนาคม เวลา 09.00 น. ขณะที่ต่อมาทนายของผู้ต้องหา 9 คน เว้น นายจตุพร ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตตามคำร้องโดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิ หนึ่งในจำเลย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการยื่นฟ้องว่า การฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องต่อเนื่องจากเหตุการณ์ล้มประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2552 ซึ่งพวกตนถูกดำเนินคดีทั้งในกทม.และพัทยา เราได้ทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดว่า เป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรื่องก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่มีข้อสรุปจากอัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการส่งตัวมาฟ้องก็ได้เตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวขอสู้คดีตามกระบวนการต่อไป และวันที่ 29 มีนาคมนี้ ตนก็ต้องไปพบพนักงานอัยการที่พัทยาอีกในคดีอื่นปีเดียวกัน จากการชุมนุมครั้งเดียวกันปี 2552 ทุกคดีเราพร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด และต้องร้องขอความเป็นธรรมว่าการฟ้องซ้ำซ้อนเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่