- 30 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
วัน 2 วันก่อนมีข่าวใหญ่ทางการเมืองอยู่ชิ้น แต่ดูเหมือนท่ามกลางสงครามสีเสื้อ เรื่องนี้จะไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก นั่นคือกรณีที่กรมบังคับคดีสั่งอายัดบัญชี 13 อดีตแกนนำพันธมิตรฯ จากคดีบุกสนามบินฯ เมื่อปี 2551
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และกระบวนการต่อสู้ทางศาลดำเนินมาแล้วกี่ปี นับว่าน่าสนใจยิ่งเพราะทางฟากฝั่งแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนต่อหลายคนก็ยืนยันตรงกันว่า พวกเขาไม่ได้เป็นคนปิดสนามบินฯ เพราะการเคลื่อนม็อบจากทำเนียบรัฐบาลไปยังสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อกดดันให้นายกฯ สมชายลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2551 นั้น การชุมนุมกินพื้นที่เฉพาะบริเวณที่เป็นทางรถวิ่งจอดรับ-ส่งผู้โดยสารด้านนอกเท่านั้น มิได้เข้าไปยึดหรือเกี่ยวข้องภายในตัวอาคารสนามบินแต่อย่างใดเลย อีกทั้งรันเวย์ และแท็กซี่เวย์ ที่ใช้ในการขึ้น-ลงของเครื่องบินก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และการไปใช้สนามบินของพันธมิตรฯ นั้น เพราะไม่อาจอยูาที่โล่ง และปล่อยให้พวกพ้องถูกฝ่ายตรงข้ามถล่มด้วย M 79 ให้ตายไปต่อหน้าต่อตาได้อีก
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า แกนนำ และมวลชนพันธมิตรฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปิดสนามบินแต่อย่างใด เพราะขณะม็อบเคลื่อนเข้าไปเครื่องบินยังขึ้น-ลงได้ปกติ และคนที่สั่งปิดสนามบินจริง ๆ กลับเป็น "เสรีรัตน์ ประสุตานนท์" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ซึ่งข้อมูลพบว่า เขาคือ พี่เมียของ "วีระกานต์ มุสิกพงษ์" 1 ใน 3 แกนแดงตัวเอ้แห่งระบอบทักษิณ
ทว่าจนแล้วจนรอด ศาลแพ่งได้สั่งให้แกนนำชดใช้ค่าเสียหายกรณีต่อกรณีนี้จำนวนเงิน 522 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 ประมาณ 800 ล้านบาท
เรื่องนี้ทำให้แม้แต่ "กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ" ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ต้องออกมาเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้ง หลังเคยพูดมาก่อนหน้าเมื่อ 2 - 3 วันก่อน โดยคราวนี้กำนันถึงกับบอกว่า นับเป็นเรื่องที่สะเทือนใจพวกเรามาก แกนนำพันธมิตรฯแต่ละท่านจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ตกคนละ 61 ล้านบาทเศษ แล้วมีการการอายัดบัญชีของทั้ง 13 ท่าน ตนขอใช้โอกาสนี้ เรียนไปยังผู้บริหารท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้โปรดพิจาณาว่าลูกหนี้ทั้ง 13 ท่าน ไม่ได้กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ที่ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวในคราวนั้น ก็ด้วยหัวใจที่รักชาติรักแผ่นดิน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลที่เป็นทรราช รัฐบาลที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทำการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเหตุให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนจึงกมาต่อต้าน
โดยกำนันถึงกับบอกว่า "เดิมทีพันธมิตรฯ ชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อถูกทำร้าย ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามด้วยเครื่องยิงเอ็ม 79 บาดเจ็บล้มตายกันมาก ก็ย้ายที่ไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง อาญา และตนขอให้กำลัง แกนนำพันธมิตรทั้ง 13 ท่าน และเชื่อว่าพี่น้องก็เช่นกัน ดังนั้น เพื่อรำลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ว่า13 แกนนำพันธมิตรฯ มีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้เพื่อบ้านเมือง ผมจะนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาผ่านทางเฟซบุ๊กในโอกาสต่อไป"
คำกล่าวของกำนันสุเทพ สอดคล้องกับ "นายสุเทพ อัตถากร" เรื่อง “ยึดสนามบินไทย-ฝรั่งวัฒนธรรมการเมืองที่ต่างกัน” ซึ่งเขียนในช่วงที่เหตการณ์นี้จบลงไปไม่นาน
โดยในข้อเขียนของคุณสุเทพ ตั้งข้อสังเกต ถึงการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากทำเนียบรัฐบาล มุ่งหน้าไปยังสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรฯ เช่นเดียวกับที่กำนันสุเทพระบุ เพราะยืรนยันว่า การชุมนุมกินพื้นที่เฉพาะบริเวณที่เป็นทางรถวิ่งจอดรับ-ส่งผู้โดยสารด้านนอกเท่านั้น มิได้เข้าไปยึดหรือเกี่ยวข้องภายในตัวอาคารสนามบินแต่อย่างใดเลย และตลอดคืนวันนั้นจนกระทั่งถึงเวลา 10 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินต่างๆ ยังคงสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เรียกได้ว่า เจ้าหน้าที่การท่าฯ นอกจากจะยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงที่ควรแจ้งข่าวไปยังผู้โดยสารอื่นๆ และหน่วยงานต่างๆ แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของการท่าฯ ก็มิได้กระทำ กลับอ้างว่าผู้โดยสารต้องเสียเวลา หน่วยงานต่างๆ ก็ต้องเสียเวลาเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าจะปิดสนามบิน
"ความจริงแล้วเมื่อผู้ชุมนุมมานั่งชุมนุมอยู่ข้างนอก ปราศรัยและร้องเพลงกันมาหลายชั่วโมงตลอดคืน เครื่องบินขึ้นลงได้เป็นปกติตลอดคืนจนถึงช่วงสายของวันรุ่งขึ้น จึงมีคำถามแรกที่ควรถูกถามด้วยความสงสัยก็คือ ผู้ว่าการท่าอากาศยานฯ สั่งปิดท่าอากาศยานฯ นั้นในเวลาต่อมา ชอบด้วยเหตุด้วยผลโดยสุจริตใจหรือไม่ หรือด้วยมีเหตุจูงใจประการอื่น" นั่นคือ ข้อสังเกตที่ "คุณสุเทพ อัตถากร" บันทึกไว้เมื่อกว่า 8 ปีก่อน
แล้วจะว่าไปก็ตรงกับที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ในทันที หลังรับทราบคำสั่งศาลแพ่งที่สั่งให้ยึดทรัพย์พวกตนเมื่อต้นปี 2561 ว่า พวกตนไม่ได้ทำผิด แต่กลับโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายยังกับไปเผาตึก
โดย พล.ต.จำลอง ระบุในวันนั้นว่า ตนไม่มีความเห็นอะไรในเรื่องนี้ รวมทั้งยังไม่รู้ว่าจะเอาทรัพย์สินที่ไหนมาให้ยึด และยังยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด แต่ทำไมโดนฟ้องร้องเรียกเงินมากมายเป็นร้อยๆ ล้าน ยังกับไปเผาตึก ซึ่งยังไม่เคยเผาตึกสักหลัง
"ไม่รู้เอาเงินจากไหนจ่ายศาล เพราะทุกอย่างที่ทำมาตลอดชีวิตเป็นองคกรส่วนกลาง มูลนิธิทั้งนั้น เช่น ศูนย์ฟอกไต ศูนย์บริการไตเทียม สถาบันฝึกอบรมผู้นำ สถานที่เลี้ยงสุนัขจรจัด ไม่มีอะไรเพื่อส่วนตัว ขณะนี้ไม่รู้สึกอะไร เพราะเมื่อเราทำไปแล้วได้ผลจริง ที่ผ่านมาโดนมาหลายคดี และยังเหลืออีกหลายคดี ผมไปชี้แจงศาลตามความเป็นจริง ว่าการชุมนุมของพันธมิตรและประชาขนได้ผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และคนไทยทุกคนได้ประโยชน์เป็นอย่างนั้นจริงๆ" พล.ต.จำลอง ระบุ
อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า แม้พวกตนจะโดนหลายคดี แต่ทุกคนที่เป็นคนไทยได้หมด ผมไม่เคยเสียใจตั้งใจแล้วทำเพื่อประเทศชาติ และได้ทำจริงๆ ผมไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงหรือชี้แจงอะไรอีก เพราะถือว่าได้ทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนใครจะนำไปใช้เป็นโอกาสของฝ่ายใดอย่างไรแล้วแต่ประชาชนมอง ผมจะไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องระดมทุนมาช่วยเหลือ เพราะคนอื่นไม่ควรเดือดร้อนไปด้วย