- 08 ส.ค. 2561
สืบเนื่องจากคดีดัง เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ประหารชีวิต นางสุรางค์ ดวงจินดา แม่ ของพญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ฐานความผิดจ้างวานฆ่า
สืบเนื่องจากคดีดัง เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ประหารชีวิต นางสุรางค์ ดวงจินดา แม่ ของพญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม
ฐานความผิดจ้างวานฆ่า แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษ 1 ใน 3 ให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากศาล ระบุว่า นางสุรางค์ นั้นมีความโกรธแค้น แทนลูกและหลาน ที่เอ็กซ์ เคยทำร้ายร่างกายจนแท้งลูก แม้จะมีการง้อด้วยการมอบดอกไม้ แต่ก็ยังไม่เชื่อว่าเอ็กซ์จะเปลี่ยนนิสัยของตนได้ เลยสั่งมือปืนไปฆ่า
นางสุรางค์ แม่ของหมอนิ่ม มีอายุ 76 ปี และเพิ่งเข้าโรงพยาบาลรักษากระดูกมา ซึ่งหากดูในกฎระเบียบกรมราชทัณฑ์ จะพบว่าด้วยอายุและอาการป่วยที่เป็นอยู่นั้นเข้าเกณฑ์ผู้ต้องหาอายุครบ 70 ปี จะใช้สิทธิ์ขอพักโทษได้ ส่วนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุของผู้ต้องขังนั้น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดอายุ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรืออายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 70 ปี ที่เหลือกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ของโทษตามกําหนดโทษ เช่น พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาบัญญัติว่า "ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกําหนดโทษ และ "ต้องมีโทษจําคุกตามกําหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ" และยังต้องดูว่าการกระทำความผิดที่ต้องรับโทษนั้นเป็นฐานความผิดต้องห้ามไม่ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษหรือไม่อีกด้วย
ส่วนการพักโทษของผู้ต้องขังที่มีอายุเกิน 70 ปี "ต้องเหลือโทษไม่เกิน 5 ปี และต้องถูกจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษตามกําหนดโทษ ถ้าหากเป็นนักโทษเด็ดขาดที่กรณีอ้างเหตุเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อย 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ เช่น พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 บัญญัติว่า "ต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกําหนดโทษ เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วย ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(โรคเอดส์) ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คน ได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้ ซึ่งตอนนี้ทางด้านทนายของนางสุรางค์ได้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้สำนักข่าวทีนิวส์ ได้คัด 4 คดีดัง ที่ผู้ต้องหาเข้าหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องการพักโทษของผู้ต้องขังอายุ 70 ปี
1. คดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์
ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของไทยเลยก็ได้กับคดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ที่ผู้ต้องหาในคดีนี้คือ นายชลอ เกิดเทศ หรือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ในปี 2537 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ให้ลงโทษพลตำรวจชลอ เกิดเทศ จำคุกตลอดชีวิต ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่า ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2549 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประหารชีวิต ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ประหารชีวิต แต่นายชลอ ได้ขอพระราชทานอภัยโทษในปี 2553 จึงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ในปี 2554 เหลือโทษจำคุก 50 ปี และถูกปล่อยตัวตามหลักเกณฑ์ ของกรมราชทัณฑ์ด้วยเงื่อนไขการพักลงโทษ เนื่องจากเป็นนักโทษชราสูงวัยอายุเกิน 70 ปี
2.คดีของ 2 กกต. ปริญญา - วาสนา
หลังจากเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรื่องการพักการลงโทษให้ อดีต 2 กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 76 ปี และนายวาสนา เพิ่มลาภ อายุ 76 ปี ที่ต้องโทษการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฎิบัติหน้าที่ จากเดิมที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งทั้งคู่ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน 13 วัน ในตอนนั้น ก่อนจะได้รับการพักโทษแต่ต้องอยู่ในการคุมประพฤติ เป็นเวลา 5 เดือน 22 วัน
ส่วนเกณฑ์การพักโทษนั้น ทั้งนายวาสนา และนายปริญญา มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังชรามีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และภายหลังบุคคลทั้ง 2 ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษจำคุก 2 ปี จึงมีคุณสมบัติตามเกณฑ์
3.คดีกำนันเป๊าะ ทุจริตจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะ และ คดีจ้างวานฆ่า
คดีของกำนันเป๊าะ หรือ สมชาย คุณปลื้ม นั้นถือเป็นอีกหนึ่งคดีดังที่ยาวนาน และเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจาก 2 คดี ทุจริตจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะ และ คดีจ้างวานฆ่านายสมชาย ถือเป็นคดีใหญ่ ในตอนนั้น ถูกจับเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการพักโทษของกำนันเป๊าะนั้นเข้าหลักเกณฑ์พิเศษเนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 และอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งนี้การพักโทษกรณีพิเศษนี้ เป็นการสงเคราะห์ให้นักโทษเด็ดขาดได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายกับครอบครัว
4.คดีหมอเลี๊ยบ คดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี๊ยบ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็น 1 ในบุคคลที่ต้องพูดถึง หลังเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศาลได้พิพากษาให้จำคุก น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีแก้สัมปาทานเอื้อชินคอร์ป โดยการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือ
ในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51 % เป็นไม่น้อยกว่า 40 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
หมอเลี๊ยบ ถูกพิจารณาให้ออกจากเรือนจำ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 60 ตามเงื่อนไขของการพักโทษของกรมราชทัณฑ์ แต่ต้องเข้าไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ และทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งหมอเลี๊ยบเหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้นจึงจะพ้นโทษ
4 คดี นี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น ยังมีอีกหลายคดีที่ไม่ได้เป็นที่สนใจแต่ได้รับการละเว้นโทษเนื่องจากเข้าเกณฑ์อีกมากมาย อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาดูต่อไปว่าเส้นทางชีวิตของนางสุรางค์ แม่ของหมอนิ่มนั้น จะเป็นอย่างไรต่อไปหากศาลตัดสินโทษถึงที่สุดแล้ว