- 09 ส.ค. 2561
กรุแตก เปิดปูมพระดัง ไปไม่ถึงฝั่งฝันฉาวคาวผ้าเหลือง
คนไทยนับถือศาสนาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเมืองไทยเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา วัด พระสงฆ์ คือสิ่งที่ชาวพุทธกราบไหว้นับถือแต่ในครั้งอดีตพระที่สร้างชื่อเสียให้แก่วงการสงฆ์ก็มีไม่น้อย ในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ได้ยกเรื่องราวของอดีตพระ 9 กรณี ที่เคยเป็นที่นับถือศรัทธาแต่สุดท้ายได้สร้างเรื่องฉาวโฉ่จนต้องลาสิกขาออกไป และบางคนยังต้องโทษคดีอีกด้วย
1. พระยันตระ อมโรภิกขุ
นายวินัย ละอองสุวรรณ หรือที่รู้จักดีในชื่อ พระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) อดีตภิกษุชื่อดังที่มีผู้เคารพศรัทธามากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกฟ้องคดีกล่าวหาว่าต้องปาราชิกาธิกรณ์และถูกมหาเถรสมาคมลงมติให้พ้นจากภาวะพระภิกษุ และหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2537 ไปอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองกว่า 20 ปี
ได้ปฏิบัติตนเป็นนักพรตฤๅษีอยู่หลายปีจนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระวินัย เมื่ออุปสมบทมักใช้คำแทนตัวว่า พระยันตระ ซึ่งแปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ที่เคยใช้มาตั้งแต่ยังเป็นฤๅษียันตระ ด้วยวัตรปฏิบัติรวมถึงคำสอนของเขา ทำให้พระวินัยถือเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคนั้น มีการตีพิมพ์เผยแพร่คำสอนรวมถึงได้รับนิมนต์ไปเทศนายังที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ คำสอนของเขาเน้นแนวทางปฏิบัติกรรมฐานซึ่งได้รับการยอมรับจากนักวิชาการศาสนาว่าถูกต้องกับพระไตรปิฎก
ปี พ.ศ. 2537 เขาได้ถูกฟ้องร้องหลายข้อหาและถูกตั้งอธิกรณ์ว่าล่วงละเมิดเมถุนธรรมปาราชิกาบัติทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ สีกากลุ่มหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ และอธิบดีกรมการศาสนาว่า นายวินัย ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ เพราะได้ไปล่อลวงสีกาชื่อ “จันทิมา มายะรังษี” ไปเสพเมถุนจนตั้งครรภ์ และคลอดบุตรสาวออกมาตั้งชื่อว่า “เด็กหญิงกระต่าย” โดยสีกากลุ่มนี้ได้งัดเอาเทปสนทนาระหว่างพระยันตระกับนางจันทิมาออกมาใช้เป็นหลักฐานด้วย
จนในที่สุดได้ถูกมติมหาเถรสมาคมพิจารณาพ้นจากความเป็นพระภิกษุ แต่นายวินัยไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ด้วยการปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุและเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเขียว ทำให้ถูกขนานนามว่า จิ้งเขียว, สมียันดะ, ยันดะ ก่อนที่นายวินัยจะลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมเพื่อหลบหนีออกจากประเทศไทยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทำให้นายวินัยสามารถหลบหนีคดีความอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่กว่า 20 ปี จนมีข่าวว่า "ยันตระ" กลับมาประเทศไทยแบบสบายๆ โดยเจ้าตัวอ้างว่า คดีความทุกอย่างหมดอายุไปแล้ว
2. พระนิกร อดีตพระนักเทศน์เสียงทอง
พ.ศ.2533 พระนิกรซึ่งเป็นอดีตพระนักเทศน์เสียงทองแห่งยุค มีผู้คนแห่ไปฟังการเทศน์ไม่ขาดสาย จนถึงขั้นต้องเปิดสำนักปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่งทั่วประเทศ แต่แล้วพระนิกรได้สร้างรอยแผลให้แก่วงการสงฆ์ เมื่อมีความสัมพันธ์กับ นางอรปวีณา บุตรขุนทอง จนมีลูกด้วยกัน พระนิกรพยายามตอบโต้ข่าวว่ามีผู้อิจฉาในชื่อเสียงของตน อีกทั้งบรรดาลูกศิษย์ก็พยายามหาหนทางตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยไม่เชื่อว่า พระที่ยึดมั่นในศีลธรรมและเทศน์ได้ไพเราะจะทำตัวเช่นนั้น
แม้มีหลักฐานมากมายจนถึงขั้นปาราชิก แต่พระนิกร ยังไม่ยอมถอดผ้าเหลืองและยังมีคนอีกมากมายหลงศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้จะเต็มไปด้วยหลักฐาน ตั้งแต่จดหมายรัก ภาพถ่าย จนถูกดำเนินคดีทั้งศาลยุติธรรมและศาลสงฆ์ ซึ่งในที่สุดศาลสงฆ์ มีมติระบุความผิดพระนิกรว่า เป็น "ปฐมปาราชิก" คือการเสพเมถุนกับอิสตรี ขาดจากความเป็นพระ แม้จะกลับมาบวชใหม่ก็ไม่สามารถดำรงความเป็นสมณเพศได้ เปรียบดังตาลยอดด้วนที่ไม่สามารถเจริญเติบโตและงอกเงยได้อีกต่อไป
จึงเป็นเหตุให้มีการแก้ พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 2) ให้ตำรวจ/อัยการ จับพระสึกได้ เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาลงวันที่ 15 เดือนมกราคม พ.ศ. 2541 ยืนยันในพฤติกรรมไว้ชัดเจน
อดีตพระนิกร เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อคืนวันที่ 11 ก.ย. 2557
3. พระอิสระมุนี
พระอิสระมุนี หรือ พระพีระพล เตชะปัญโญ เดิมชื่อ นายบรรหาร อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมวิหารี (วัดร่วมใจพัฒนา-วัดป่าละอู) อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระสงฆ์สายวิปัสสนา ซึ่งเป็นที่นับถือเลื่อมใสจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และภริยา พจมาน ชินวัตรเป็นอย่างมาก
พระอิสระมุนี เป็นอดีตพระเลขาของหลวงปู่ชา สุภัทโทแห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเกิดขัดแย้งกับลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินของวัดจนถูกจับสึก จึงเดินทางมาที่จังหวัดเพชรบุรี ปักกลดและตั้งสำนักสงฆ์ บริเวณป่าละอู ตำบลป่าแดง อำเภอแก่งกระจาน พัฒนาจนกลายเป็นวัดธรรมวิหารี มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ในปัจจุบัน
พระอิสระมุนีเป็นพระนักเทศน์ที่มีความสามารถ สั่งสอนธรรมะให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ได้นิยามถึงตัวตนของตนเองไว้ว่า เราผู้มีชื่อว่า อิสระมุนี ไม่ใช่ฐานันดรบุคคล ไม่ใช่พระมหาเถระผู้มีวาสนายิ่งใหญ่มหึมา ที่ใคร ๆ จะต้องกราบไหว้ ไม่ใช่พระมหาผู้มีความรู้กว้างขวางจนไม่มีใครเทียมเท่า ไม่ใช่บัณฑิตศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยใด ไม่ใช่นักปราชญ์หรือนักวิชาการ หรือนักคิดที่ถูกคนเขาให้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์กันเป็นกระบุงๆ เพราะฉะนั้น เราจึงมีชื่อว่า อิสระมุนี ผู้ที่ต้องการรู้จักเราก็จงรู้ที่ออกมาจากใจของเราตามที่กล่าวมานี้เถิด
13 ตุลาคม พ.ศ. 2544 พระอิสระมุนีตกเป็นข่าวว่าต้องปาราชิก หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับสีกาคนสนิท จากการสืบสวนของทีมงานรายการถอดรหัส ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม มีหลักฐานเป็นจดหมายเขียนถึงสีกาสาว 10 หน้ากระดาษและเทปสนทนาทางโทรศัพท์ ซึ่งพระอิสระมุนีก็ได้สึกจากสมณเพศในทันที
4. พระภาวนาพุทโธ
พ.ศ.2538 ข่าวอื้อฉาวของพระภาวนาพุทโธ ที่ขณะนั้นถือว่า กำลังเป็นดาวรุ่งแซงหน้าความมีชื่อเสียงของบรรดาพระวิปัสสนาจารย์ทำให้ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างหลั่งไหล และมุ่งตรงไปสู่วัดสามพราน ทั้งลาภและสักการะจำนวนมหาศาล "พระภาวนาพุทโธ" หรือนายจำลอง คนซื่อ พระธุดงค์นักพัฒนาที่โด่งดังในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อดีตเจ้าอาวาสวัดชื่อดัง ใน จ.นครปฐม ถูกดำเนินคดีข่มขืนบรรดาเด็กสาวชาวเขา ที่มาพักอาศัยภายในวัด
ต้นเดือน ส.ค. 2538 ญาติของเด็กหญิงชาวเขาเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมการศาสนา และตำรวจกองบังคับ การปราบปราม (บก.ป.) และกรมคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก กรมประชาสงเคราะห์ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีเด็กหญิงชาวเขารวม 6 คน มาพักอาศัยอยู่วัดเพื่อหวังให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อสูง ๆ ตามคำชักชวนของภาวนาพุทโธ เมื่อครั้งออกธุดงค์
พฤติกรรมของอดีตพระภาวนาพุทโธนั้น ถูกระบุในคำพิพากษาว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531-2538 ต่อเนื่องกัน ญาติของเด็กหญิงชาวเขา เหยื่อของพระภาวนาพุทโธคนหนึ่ง ทราบพฤติกรรมดังกล่าว จึงได้ทำเรื่องร้องเรียน ถัดจากนั้นมาอีก 9 ปีเต็ม ทั้งการดำเนินการในชั้นของพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ศาลชั้นต้นพิพากษา นายจำลอง หรืออดีตพระภาวนาพุทโธ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน 13 ปีและไม่เกิน 14 ปี ซึ่งมิใช่ภรรยาตน โดยพิพากษาจำคุกเป็นเวลาถึง 160 ปี แต่ตามกฎหมายสามารถจำคุกจำเลยได้เพียง 50 ปีเท่านั้น โทษจึงคงเหลือจำคุก 50 ปี มีการสู้คดีกันต่อแต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยังคงพิพากษายืน
5. เณรแอ จอมขมังเวทย์
เจ้าของต้นตำรับ กุมารทอง ของขลัง รวมทั้งมนต์ดำเสน่ห์ยาแฝดชื่อดัง บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดหนองระกำ อ.หนองโดน จ.สระบุรี อยู่หลายปี แม้ว่าอายุจะถึงวัยที่ต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่เณรแอก็ไม่ยอมอุปสมบท แต่เลือกที่จะร่ำเรียนไสยศาสตร์มนต์ดำจากอาจารย์เขมร จนว่ากันว่ามีอาคมแก่กล้า ช่ำชองการทำเสน่ห์ยาแฝด การสะเดาะเคราะห์ และปลุกเสกของขลัง จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว แต่ละวันมีลูกศิษย์ลูกหาเดินทางไปให้ เณรแอ ทำพิธีทางไสยศาสตร์ให้จำนวนมาก
พ.ศ. 2537 เณรแอ ใช้ใต้ถุนเมรุวัดหนองระกำทำพิธีปลุกเสกกุมารทอง ของขลังตามท้องเรื่องในวรรณคดีดัง ขุนช้างขุนแผน ที่เณรแอและผู้คลั่งไคล้ไสยศาสตร์ เชื่อกันว่า เป็นผีเด็ก ที่ใครมีไว้ในครอบครองแล้วจะทำให้เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน การค้าการขายได้กำไรดี แต่พิธีกรรมปลุกเสก กุมารทอง ในครั้งนั้น ทำให้เณรแอต้องติดคุกอยู่ 1 ปีเต็ม เนื่องจากในพิธีปลุกเสก มีการบันทึกภาพวิดีโอขั้นตอนการปลุกเสกไว้อย่างละเอียดยิบ โดยเฉพาะขั้นตอนการย่างศพเด็ก และมีการนำวิดีโอเทปไปเผยแพร่ในสื่อมวลชนต่างๆ จนเป็นข่าวครึกโครม
หลังจากนั้นไม่นาน กรมการศาสนาได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.หนองโดน ให้ดำเนินคดี เณรแอ ในข้อหาอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีตัวตน ซึ่งศาลจังหวัดสระบุรีได้พิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี หลังจากพ้นโทษ แม้ว่าเณรแอ จะไม่ได้ถือครองผ้าเหลือง แต่ก็ไม่ได้ห่างหายไปจากแวดวงไสยศาสตร์ เณรแอได้ใช้บ้านพักทรงไทย ปลูกสร้างอยู่ในเนื้อที่ 5 ไร่ ที่สระบุรี เป็นสถานที่ทำเสน่ห์ยาแฝดให้แก่ผู้ที่ศรัทธา จนกลายเป็นคนมีฐานะ มีทรัพย์สินอยู่ในความครอบครองหลายสิบล้านบาท ซ้ำยังหากินโดยการหลอกลวงหญิงสาวและฉ้อโกงประชาชนจนถูกจับดำเนินคดีอีกครั้ง เรียกว่าเข้าๆ ออกๆ เรือนจำเป็นว่าเล่น
6. พระเกษม อาจิณณสีโล
เกษม ดวงแพงมาต หรืออดีตพระเกษม อาจิณฺณสีโล ผู้เป็นที่รู้จักจากคดีหมิ่นศาสนาและคลิปแสดงการกระทำไม่เหมาะสมต่อพระพุทธรูป ต่อมาพระเกษมยอมรับว่าได้เสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวพระราชปริยัติบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีความเห็นว่าพระเกษมขาดจากความเป็นพระแล้ว ในที่สุดพระเกษมยอมลาสิกขาบทเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558 จากนั้น 21 มกราคม 2558 คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์มีมติว่าเกษมไม่สามารถกลับมาบวชเป็นภิกษุได้อีก
เกษม เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จาริกท่องเที่ยวตามสถานธรรม และป่าเขาทั่วไป จนเมื่อปี พ.ศ. 2534 ได้ปักกลด และประพฤติธุดงค์ ที่บริเวณป่าเขา หมู่บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง ซึ่งไม่ไกลมากนักจากที่พักสงฆ์ป่าห้วยผึ้ง (วัดป่าสามแยก) ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2538 จึงตกลงพักจำพรรษาที่พักสงฆ์วัดป่าสามแยกเพื่ออาศัยเป็นที่ปฏิบัติกิจวัตร สมัยที่ยังเป็นพระภิกษุ เกษมมีชื่อเสียงมาจากการสอนพระพุทธศาสนาโดยอ้างอิงพระไตรปิฎกไว้เป็นตัวอย่างในการอ้างแหล่งข้อมูลทางวิชาการ และเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูบ เว็บไซต์
7. พระมิซูโอะ คเวสโก
มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ หรือ อดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นอดีตพระภิกษุชาวญี่ปุ่น บวชในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะมหานิกาย ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เป็นชาวจังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล (เทียบเท่าระดับ ปวช. หรือ มศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมะริโอะกะ จังหวัดอิวะเตะ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงทำงานจนสามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง และออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2514
พระมิตซูโอะ ได้เดินทางมาประเทศไทย หลังจากได้เดินทางแสวงหาธรรมะที่แท้จริงจากหลายประเทศทั่วโลกทั้งอินเดีย, เนปาล, อิหร่าน, ยุโรป แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่เดิมจะไปยังแอฟริกา ไปเป็นที่อินเดียอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 แต่ได้เปลี่ยนใจเมื่อระลึกได้ถึงพุทธคยา เห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและประจักษ์ต่อใจตนเองว่า แท้จริงแล้วความสุขที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจภายในตนเอง จึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก มาสู่การแสวงหาจากภายใน
ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ หลังจากนั้นบรรพชาได้ 3 เดือน ได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภทฺโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้รับฉายา "คเวสโก" หมายถึง "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"
พระมิตซูโอะเป็นผู้บุกเบิกวัดป่าสุนันทวนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดป่านานาชาติ และเคยดำรงสถานะเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งนับเป็นสาขาที่ 117 ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้แล้วในปี พ.ศ. 2533 ยังเป็นผู้ริเริมมูลนิธิมายา โคตมี ที่ให้การช่วยเหลือด้านการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาส ที่จังหวัดอุบลราชธานี
10 มิถุนายน พ.ศ. 2556 พระมิตซูโอะ คเวสโก ได้ลาสิกขาอย่างกะทันหัน โดยที่ลูกศิษย์และผู้ที่นับถือหลายคนไม่ทราบมาก่อน ขณะที่ผู้ใกล้ชิดยืนยันว่า พระมิตซูโอะ ได้ลาสิกขาจริง และเดินทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยเป็นเพราะต้องการไปรักษาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคประจำตัว และต้องการกลับไปช่วยเหลือผู้คนในประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาไม่นาน ได้มีการเผยแพร่ภาพทางโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า อดีตพระมิตซูโอะ ได้ถ่ายรูปร่วมกันหลายรูปกับผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อ นางสุทธิรัตน์ มุตตามระ อายุ 52 ปี เป็นนักธุรกิจหญิง ด้านความงาม ที่อ้างว่าเป็นคู่รัก และทั้งคู่ก็ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วที่จังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ซึ่งอดีตพระมิตซูโอะก็ได้เปิดเผยว่า ที่ลาสิกขาไปเพราะต้องการมีครอบครัว
8. พระธัมมชโย แห่ง ธรรมกาย
พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย หรือ ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นพระภิกษุชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ประธานมูลนิธิธรรมกาย และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร
พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย ในวัยเด็กมักค้นคว้าหาความรู้ด้านธรรมะ และคำถามที่ติดอยู่ในใจเสมอคือ "เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายชีวิต" จึงได้แสวงหาคำตอบเรื่อยมา ขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยหลังจากได้ฟังการบรรยายธรรมจากวิทยากรท่านต่างๆ ร่วมกับเพื่อนตั้งชุมนุมยุวพุทธ
27 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระเทพวรเวที (ปัจจุบันคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระวิเชียรกวี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ธมฺมชโย" แปลว่า "ผู้ชนะโดยธรรม"
วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทำความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจรตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด ซึ่งอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องในบางคดีด้วยแล้วแต่พระเทพญาณมหามุนีไม่ยอมมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีดังกล่าว จึงไม่สมควรดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป
9. หลวงปู่เณรคำ
วิรพล สุขผล หรืออดีต พระวิรพล ฉัตติโก เรียกตนเองว่าหลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก และเป็นที่รู้จักในชื่อ เณรคำ เคยเป็นประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม และมีชื่อเสียงจากความสามารถในการสั่งสอน แต่ภายหลังถูกถอดจากสมณเพศเพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ
13 กันยายน พ.ศ. 2537 พระวิรพล ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหลวงปู่โชติ อาภัคโค เป็นอุปัชฌาย์แล้วจึงไปจำพรรษาที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดศรีนวล อำเภอและจังหวัดเดียวกัน ก่อนที่จะกลับไปจำพรรษาอีกครั้งที่สำนักสงฆ์ขันติธรรม
หลังการอุปสมบท พระวิรพล ฉัตติโกได้ใช้พื้นที่ที่ถวายโดยชาวบ้าน ทำการสร้างสำนักสงฆ์ชื่อ สำนักสงฆ์ขันติธรรม ขึ้นที่ตำบลยาง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และต่อมาในภายหลังสำนักสงฆ์นี้ก็ใช้ชื่อโดยทั่วไปว่า วัดป่าขันติธรรม (ปัจจุบันได้รับสถานะเป็นวัดตามกฎหมายแล้วในชื่อวัดสามัคคิยาราม)
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีและคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษได้ขับพระวิรพลออกจากสมณเพศ เนื่องจากผิดวินัยสงฆ์ร้ายแรง ได้แก่เสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก ต่อมามีตัวแทนของพระวิรพลให้ข่าวว่าพระวิรพลได้ลาสิกขาแล้วที่วัดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมปีเดียวกัน อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ได้มีรายงานข่าวว่าเณรคำยังคงแต่งกายเป็นพระสงฆ์ เณรคำได้อ้างว่าตนมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยและสามารถอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย และยังกล่าวอีกด้วยว่าจะตั้งนิกายใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ไทย
ล่าสุดวันที่ 9 ส.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายวิรพล สุขผล หรือฉัตติโก หรืออดีตหลวงปู่เณรคำอายุ 38 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2552, ร่วมกันฉ้อโกงโดยชักชวนให้ประชาชน นำเงิน ทองคำ และทรัพย์สินมาบริจาคที่วัดป่าฯ โดยจัดตู้บริจาค 8 ตู้ จนมีผู้เสียหาย 29 ราย หลงเชื่อว่า จำนวนทั้งสิ้น 28,649,553 บาท จากนั้นได้โอนเงิน 1,130,000 บาทที่ได้จากการฉ้อโกงไปซื้อรถยนต์ตู้โตโยต้า 1 คันโดยทุจริต ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีการก่อสร้างใดๆ เกิดขึ้น
ทั้งยังอ้างว่า ได้นิมิตพบองค์อินทร์ ขอให้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องใช้หยกเขียวแท้จากประเทศอิตาลี ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การอวดอ้างนิมิตถึงพระอินทร์ลอกลวงให้ประชาชนที่เคารพศรัทธา ที่เป็นพุทธศาสนิกชนหลงเชื่อจนบริจาคเงินให้ แล้วนำไปซื้อรถปอร์เช่ รถตู้ รถกระบะ หลาย 10 คัน รวมทั้งใช้เงินเกินความจำเป็นความเป็นสงฆ์
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวมจำคุกทั้งสิ้น 114 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุกสูงสุดตาม ม.91(2) ได้ 20 ปี และให้ชดใช้เงินกับผู้เสียหายกับ 29 ราย ตามจำนวนที่ได้ฉ้อโกงไป