- 20 ส.ค. 2561
มรดกบาป “ไพศาล”จี้รัฐบาล ใช้หนี้โกงจำนำข้าว ธกส. ให้ถูกต้อง ซัดรัฐบาลเก่า เล่นกล ไม่ตั้งบัญชีหนี้ เปิดช่องก่อหนี้เพิ่ม
สืบเนื่องจากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ระบุมีข้อสังเกตจากรายงานการเงินแผ่นดินเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ในกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมรับทราบรายงานการเงินแผ่นดินสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 และ 2557 ว่า รายงานดังกล่าวไม่มีผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 536,908.30 ล้านบาท ตามที่มีการระบุในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
โดยนายเรืองไกร อ้างว่า เมื่อผลการตรวจสอบของ สตง. ถูกต้องแล้ว ครม. และ สนช. รับทราบแล้วย่อมแสดงว่า ผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่
ต่อมาทางด้านนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางได้ออกมาชี้แจ้งกรณีดังกล่าวโดยกล่าวว่า หลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินปัจจุบันเป็นหลักการที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบการปรับเปลี่ยนหลักการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ให้จัดทำตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม โดยกรมบัญชีกลางทำบัญชีชุดรัฐบาลโดยบันทึกข้อมูลการรับจ่ายเงินคงคลังของรัฐบาลเป็นหลักด้วยเกณฑ์เงินสด ประกอบด้วย รายการเงินรายได้แผ่นดิน เงินงบประมาณรายจ่าย และเงินนอกงบประมาณที่ส่วนราชการฝากไว้กับกระทรวงการคลังและจะปรับปรุงบัญชีค้างรับค้างจ่ายตามเกณฑ์คงค้างเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าวว่า กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูลที่มีสาระสำคัญเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของรัฐบาลจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐบาล ได้แก่ ข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ข้อมูลเงินลงทุนจากสำนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้อมูลหนี้สาธารณะจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตามลำดับ มาปรับปรุงบัญชีชุดรัฐบาล กรมบัญชีกลางนำข้อมูลบัญชีแสดงในรายงานการเงินแผ่นดินส่งให้ สตง.ตรวจสอบและรับรอง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 เป็นต้นมา
สำหรับโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการไปก่อนแล้วรัฐบาลจึงตั้งงบประมาณชดใช้คืนเป็นรายปีจนกว่าจะครบวงเงิน ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงเป็นผู้ทำบัญชีโครงการนี้ เพื่อแสดงต่อรัฐบาลประกอบการขอตั้งงบประมาณ ธ.ก.ส.จึงไม่ต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นรายการที่ไม่ต้องนำมาทำบัญชีในชุดรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางจะรับรู้รายการนี้และลงบัญชีเฉพาะการจ่ายเงินงบประมาณใช้คืนให้ ธ.ก.ส.โดยลงบัญชีเป็นรายจ่ายตามงบประมาณตามปกติในปีที่ ธ.ก.ส.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากหลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินตามเกณฑ์คงค้างแบบผสมดังกล่าว จึงไม่มีหรือไม่สามารถมีรายการผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง 536,908.30 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดย ธ.ก.ส.เป็นรายการบัญชีค่าใช้จ่ายแยกต่างหากในรายงานการเงินแผ่นดินที่กรมบัญชีกลางจัดทำสำหรับปีสิ้นสุด 30 กันยายน 2558 และ 2557 ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการบัญชีที่ได้เสนอ ครม.รับทราบ
ขณะเดียวกันล่าสุดทางด้านของนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็ได้มีมุมมองในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า
กรมบัญชีกลางชี้แจงแล้ว!
ผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 500,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นผลขาดทุนที่ตั้งไว้ในการดำเนินงานของ ธกส มาตั้งแต่ต้น เป็นไปตามมติ ครม ในยุคนั้น
ส่วนรัฐบาลตั้งงบประมาณรายปีเพื่อชดเชยผลขาดทุนให้กับ ธกส
ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลจึงไม่มีผลขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
ก็อยากจะติงไว้ว่า ภาระหนี้ในการตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่ธกส เป็นรายปีนั้นก็เป็นหนี้ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายตามข้อตกลง ภาระเช่นนี้จึงเป็นหนี้ผูกพันตามจำนวนหนี้อย่างหนึ่งด้วย คือต้องตั้งรายการ"ภาระใช้หนี้คืน ธกส" โดยต้องตั้งไว้ทั้งจำนวน
การที่ รัฐบาลก่อนๆ ไม่ตั้งบัญชีหนี้ จึง เป็นการเล่นกลทางบัญชี ทำให้ยอดหนี้ของรัฐต่ำกว่าความเป็นจริง เปิดช่องให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้อง
เนื่องจากเป็นการกระทำของรัฐบาลก่อน รัฐบาลนี้จึงควรที่จะกำหนดเสียให้ถูกต้อง
รีบเลยครับ!