21 ส.ค. ย้อนรอยการโจรกรรมโลกไม่ลืม ภาพวาดรอยยิ้มสตรีปริศนา "โมนาลิซา" เคยหายไปกว่า 2 ปี

งานจิตรกรรมทุกชิ้นที่เหล่าจิตกรรังสรรค์ขึ้นมาประหนึ่งว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนและเจตนารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้นที่ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่ทรงคุณค่า

    งานจิตรกรรมทุกชิ้นที่เหล่าจิตกรรังสรรค์ขึ้นมาประหนึ่งว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนและเจตนารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้นที่ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่ทรงคุณค่า ส่งต่อมาหลายยุคหลายสมัยเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เสพงานศิลป์ และศึกษาได้อย่างไม่รู้จบสิ้น และหากจะกล่าวถึงผลงานชิ้นโบว์แดงของจิตกรท่านหนึ่ง ผู้เป็นอัจริยบุคคลผู้มีความสามารถอันหลากหลาย จนได้ถูกขนานนามว่า "ผู้รู้รอบด้าน" หรือ "ชายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" (Renaissance Man) เลโอนาร์โด ดา วินชี

 

 

21 ส.ค. ย้อนรอยการโจรกรรมโลกไม่ลืม ภาพวาดรอยยิ้มสตรีปริศนา \"โมนาลิซา\" เคยหายไปกว่า 2 ปี

 

 

   คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักภาพวาดของสตรีนางหนึ่ง ที่มีใบหน้าอันงดงามราวกับเป็นหญิงสาวในอุดมคติตามแบบฉบับรสนิยมของผู้คนในยุคสมัยนั้น หากแต่แฝงไปด้วยแววตาและรอยยิ้มอันน่าฉงนสนเท่ห์ ซึ่งรอยยิ้มปริศนานี้ได้สร้างข้อถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้ว เธอผู้นี้มีรอยยิ้มแต่งแต้มใบหน้าที่มาจากความปิติ หรือเป็นรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยความโทมนัส กันแน่ . . .

 

 

21 ส.ค. ย้อนรอยการโจรกรรมโลกไม่ลืม ภาพวาดรอยยิ้มสตรีปริศนา \"โมนาลิซา\" เคยหายไปกว่า 2 ปี

 

 

    ภาพวาด "โมนาลิซา" (Mona Lisa) เป็นภาพวาดสีน้ำมัน สูง 77 เซนติเมตร กว้าง 53 เซนติมเตร วาดขึ้นโดย เลโอนาร์โด ดา วินชี โดยใช้เวลารังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ถึง 4 ปีด้วยกัน คือ ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1503 - ค.ศ.1507 ความเป็นมาของภาพ "โมนาลิซา" ตามคำบอกเล่าของ จิออร์โอ วาซารี จิตกรและสถาปนิก และผู้ศึกษาศิลปะในยุคสมัยนั้น ค.ศ.1511 - ค.ศ.1574 กล่าวไว้ว่า ภาพ "โมนาลิซา" คือ ภรรยาของ ฟรานเชสโก เดล จิโอกอนโด พ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่ง เมืองฟลอเรนซ์

    และอีกทฤษฎีที่มาจากผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้บันทึกจากปากคำของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ในช่วง ค.ศ.1517 โดยกล่าวว่า ผู้เป็นแบบในภาพนี้คือ สตรีชาวฟลอเรนซ์ ที่ จูลีอาโน เดอ เมดิซี่ เป็นผู้ว่าจ้างให้วาดขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดีพบว่า ทั้งสองทฤษฎีนี้อาจเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอน อาจเป็นเพียงคำบอกเล่าของผู้คนในอดีตเพียงเท่านั้น

 

    ต่อมาภายหลังที่ เลโอนาร์โด ดา วินชี เสียชีวิต ได้มอบมรดกชิ้นนี้ให้แก่ผู้ติดตามของเขา ฟรานเซสโก เมลซิ และเมื่อ ฟรานเซสโก เมลซิ เสียชีวิตลงก็ไม่ได้มอบให้ใครสีบทอดต่อ ภาพวาด "โมนาลิซา" จึงถูกนำไปเก็บไว้ ณ พระราชวังฟงเตนโบล และ พระราชวังแวร์ซาย ในเวลาต่อมา เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ "ปฏิวัติฝรั่งเศส" พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้ย้ายภาพไปประดับไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีส์ และที่พระราชวังลูฟว์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ หรือในชื่อทางการว่า "The Grand Louvre" ตั้งอยู่ใน กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีการป้องกันที่หนาแน่นและเก็บรักษาไว้อย่างดีมาโดยตลอด ราวกับเป็นอิสตรีผู้หลับใหล ให้ผู้คนได้ยลโฉมกันอย่างไม่ขาดสายจวบจนถึงปัจจุบัน

 

 

21 ส.ค. ย้อนรอยการโจรกรรมโลกไม่ลืม ภาพวาดรอยยิ้มสตรีปริศนา \"โมนาลิซา\" เคยหายไปกว่า 2 ปี

 

 

    แต่แล้วในวันที่ 21 ส.ค. 1911 (พ.ศ.2454 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6) เกิดการโจรกรรมที่เรียกได้ว่า สั่นสะเทือนวงการศิลปะเพราะภาพวาดของ "โมนาลิซา" ได้หายไปจากพิพิธภัณฑ์ อย่างไร้ร่องรอย แต่ทางพิพิธภัณฑ์พยายามปิดข่าวโดยแจ้งกับผู้เข้าชมภาพว่า ต้องปิดพิพิธภัณฑ์ปรับปรุงเนื่องจากมีท่อน้ำขนาดใหญ่แตก แต่ทางผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ลูฟว์กังวลว่าการโจรกรรมครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะทำลายรูปมากกว่าที่จะขโมยเพียงอย่างเดียว

 

    โดย ผู้อยู่เบื้องหลังการโจรกรรมครั้งนี้คือ มหาเศรษฐีเชื้อสาย สเปน-อาร์เจนตินา หรือที่เรียกกันในวงการว่า "ซินยอเร่" โดยว่าจ้างผู้ลงมือสองคนคือ นายเปรูเจีย ช่างไม้อิตาเลียน และนายวินเซนต์ ซึ่งนายเปรูเจียนั้นเคยเป็นพนักงานเก่าของพิพิธภัณฑ์ น่าจะชำนาญเส้นทางที่ใช้หลบหนี
และอาศัยช่องโหว่ของระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อลงมือได้ไม่ยาก

 

    ภารกิจของนายเจรูเปียเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ โดยการซ่อนตัวอยู่ในห้องเก็บของ และเริ่มงานในวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์ เรียกได้ว่าปลอดทั้งผู้คนที่เข้ามาชมงานศิลปะและยาม แต่ด้วยเป็นวันหยุดที่เปิดให้คนงานเข้าไปทำความสะอาดและปรับปรุงพื้นที่ นายเจรูเปีย จึงแสร้งว่าตนเป็นคนงาน หิ้วภาพ "โมนาลิซา" และซ่อนภาพไว้ในลังไม้ ในห้องเช่าราคาถูกไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์นัก

 

    แต่พิพิธภัณฑ์ปกปิดเรื่องนี้ได้ไม่นานนัก เพราะภายหลังเกิดเหตุการณ์ 2 วัน เรื่องรู้ไปถึงสื่อหนังสือพิมพ์จึงประโคมข่าวให้เกิดกระแสตื่นตัวกับการโจรกรรมในครั้งนี้ การปลุกกระแสของสื่อ ทำให้สื่อทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจจนเกิดกระแสที่เรียกว่า "โมนาลิซา ฟีเวอร์" จากกระแสนี้ ส่งผลให้ "ซินยอเร่" เกิดความกดดันและไม่กล้ารับมอบภาพจากนายเปรูเจียผู้เป็นหัวขโมย แต่ก็ยอมจ่ายเงิน 1 จากใน 3 ส่วนตามเงื่อนไข

 

    ทางด้านนายเปรูเจีย ก็ใช้ชีวิตทำงานตามปกติ เพื่อรอคำสั่งมอบภาพให้แก่ผู้ว่าจ้าง เพื่อรับเงินแต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี ไม่มีการติดตามจาก "ซินยอเร่" หรือผู้ว่าจ้าง จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดของตน คือ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และติดต่อขายรูปให้ร้านขายรูปเก่าแห่งหนึ่งในราคา 500,000 ลีร์ หรือประมาณ 100,000 ดอลลาร์ ในที่สุด วันที่ 12 ธ.ค. พ.ศ. 1913 ซึ่งเป็นวันนัดหมายส่งมอบภาพ และรับเงินก้อนสุดท้าย นายเปรูเจียได้ถูกจับและถูกตัดสินให้จำคุก 7 เดือน 

    อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและน่าเห็นใจจากคำให้การณ์ของ หัวขโมยชาวอิตาลีผู้นี้ ที่กล่าวว่า ตนนั้นมีความคิดที่ว่าภาพ "โมนาลิซา" เป็นสมบัติของประเทศอิตาลี ดังนั้นจึงควรนำกลับประเทศอิตาลี ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันจนมาถึงปัจจุบันว่าแท้จริงแล้ว ภาพวาด "โมนาลิซา" เป็นสมบัติของชาติใดกันแน่ เพราะจิตกรเจ้าของผลงานเป็นคนอิตาลี หาใช่ฝรั่งเศสไม่ เป็นอันปิดฉากคดีโจรกรรมอันยื้ดเยื้อ เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี 4 เดือน 18 วัน ภายหลังรัฐบาลอิตาลีได้นำภาพไปเปิดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ชาวอิตาลีได้เข้าชม ก็ได้ส่งคืนกลับให้ประเทศฝรั่งเศษ ในวันที่ 4 ม.ค. 1914 ทุกวันนี้ภาพวาด "โมนาลิซา" ได้ถูกจัดแสดงและรับการดูแลรักษาอย่างดีในตู้ปรับอากาศกันกระสุน ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ราวกับจะเป็นการบอกว่า "โมนาลิซา" จะได้พักผ่อนและไม่มีทางที่จะถูกเคลื่อนย้ายไปไหนอีกต่อไป

 

    ถึงแม้ทุกวันนี้ จะยังคงมีการถกเถียงถึงต้นกำเนิด ของภาพ "โมนาลิซา" ว่ามีที่มาอย่างไรแต่เสน่ห์ของงานศิลปะนั้น ไม่ได้ตัดสินกันเพียงแค่ ที่มา หรือความสวยงามตามแต่ทัศนะของแต่ละบุคคลเพียงเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยคุณค่า หากเรานำงานเหล่านั้น มาศึกษาในเชิงสร้างสรรค์และช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวกันต่อไป

 

21 ส.ค. ย้อนรอยการโจรกรรมโลกไม่ลืม ภาพวาดรอยยิ้มสตรีปริศนา \"โมนาลิซา\" เคยหายไปกว่า 2 ปี

 

ขอบคุณ : วิกิพีเดีย