ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน

"งานหนักไม่เคยฆ่าคน" อาจเป็นเพียงวาทกรรมปรุงแต่งเพื่อจรรโลงชีวิตการทำงานให้ดูสวยหรู

    "งานหนักไม่เคยฆ่าคน" อาจเป็นเพียงวาทกรรมปรุงแต่งเพื่อจรรโลงชีวิตการทำงานให้ดูสวยหรู ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและแก่งแย่ง ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนแต่ตั้งเป้าหมายในการทำงานเพื่อเงินทอง ด้วยความหวังที่ว่าจะนำมาสู่สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่บางขณะกลับหลงลืมบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญยิ่งกว่า หลายคนประสบความสำเร็จจากประสิทธิผลในชีวิตการทำงาน หากแต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต สุขภาพกายและสุขภาพจิต มีแนวโน้มว่าจะถดถอยลงเรื่อยๆ จากการโหมทำงานหนัก แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ต้องอะไรกับการ "ตายผ่อนส่ง" 

   

    อาจเป็นคำพูดที่ดูรุนแรง แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดจากการทำงาน และแน่นอนว่าคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายการหักโหมทำงานอาจตอบแทนคุณด้วยจำนวนเงินมหาศาล แต่จงอย่าชะล่าใจ เพราะท้ายที่สุดอาจเป็นเพียงเงินที่มาจากหนี้ทางสุขภาพที่ต้องผ่อนชำระด้วยความตาย . . .

 

 

ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน

    จากเหตุการณ์อันน่าสลดที่สังคมแชร์บนโลกออนไลน์เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนภัย กรณีสถาปนิก แก้งานลูกค้าจนดึกสุดท้ายเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เสียชีวิตคาโต๊ะเขียนแบบโดยมีโน๊ตบุ๊คเปิดงานทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่แต่ไม่สำเร็จ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการในเรื่องการทำงานและการดูแลสุขภาพที่อาจไมได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่เหล่าคนวัยทำงานควรนำมาเป็นกรณีศึกษาและเริ่มทำการสำรวจตัวเองตั้งแต่วันนี้ ว่าตนนั้นใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะหรือมีความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุเช่นนี้กับตัวเองมากน้อยเพียงใด

 

    การออกกำลังกาย โภชนาการ และการพักผ่อน สามสิ่งสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบริบทการใช้ชีวิตของคนวัยทำงานเพื่อลดภาวะเสี่ยงจากโรคเกี่ยวกับหัวใจ คือการออกกำลังกายแบบ Cardio หรือที่เข้าใจกันว่าการออกกำลังกายแบบ Aerobic ซึ่งเป็นการออกกำลังกาย ที่เน้นการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ระบบเผาผลาญ และเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง ยิ่งระบบโลหิตไหลเวียนดี เลือดก็สามารถไหลไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้น และนำพาสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่นวิตามินและเกลือแร่ชนิดต่างๆ รวมไปถึงออกซิเจน ไปยังเซลล์ปลายทางได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน

 

    วิธีการทำ Cardio นั้นมีอยู่หลากหลายด้วยกัน ทั้งการเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือกการเล่นกีฬาเป็นหมู่คณะ โดยมีหลักการสำคัญคือ การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นประมาณ 50-75% (หรือมากกว่า) ของอัตราการเต้นสูงสุดจากสูตรคำนวณ 220 – อายุ 

 

    การทำ Cardio เพื่อสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ควรศึกษาจากอัตราการเต้นของหัวใจเป็นหลัก โดยที่นิยมมากคือการคาร์ดิโอเพื่อให้ อัตราการเต้นหัวใจอยู่ในช่วงโซน 2 คืออัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ประมาณ 60-70% เช่น นาย A อายุ 30 ปี มีอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจอยู่ที่ 190 จากสูตรข้างต้น การทำ Cardio โซน 2 ของนาย A อัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ประมาณที่ 114 - 133 ครั้งต่อนาที ซึ่งป็นช่วงที่มีความเข้มข้นของการ Cardio ในระดับปานกลาง ไม่เหนื่อยจนเกินไปเป็นโซนที่ช่วยเพิ่มความอดทน (Endurance) อีกทั้งร่างกายจะเกิดการพัฒนาในด้านการใช้ออกซิเจน รวมถึงการเผาผลาญไขมันส่วนเกินโดยตรง ความถี่ในการทำ Cardio นั้นหากคิดเป็นสัปดาห์ควรจะอยู่ที่ประมาณ 120 นาที ต่อสัปดาห์ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว อาจแบ่งคาบฝึกเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 40 นาที เป็นต้น

 

    นอกจากนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่ได้มาจากการออกกำลังกายแบบ Resistance หรือการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ ก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน สามารถฝึกได้จากการทำ Body Weight หรือ Weight Training เป็นต้น เพราะหากมีปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายมากขึ้น ย่อมหมายถึงระบบเผาผลาญในร่างกายที่มากขึ้น และป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประวัน เช่นโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือ โรคยอดฮิตของคนวัยทำงานยุคนี้ ออฟฟิศซินโดรม

 

 

ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน

    การให้ความสำคัญกับโภชนาการ นั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของหลายๆ คนที่มักมีความคิดที่ว่าต้องทานให้น้อยเพื่อลดน้ำหนักหรือการทำงานจนไม่มีเวลาทานอาหาร พฤติกรรมเหล่านี้จะนำมาซึ่งระบบเผาผลาญที่ถูกทำลาย และส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันส่วนเกินได้ง่ายขึ้น โดยวิธีคำนวณพลังงานที่เหมาะสม ที่ควรจะได้รับต่อวันหรือที่เรียกว่า BMR (Basal Metabolic Rate) มีสูตรดังนี้

 

    สำหรับผู้ชาย : BMR = 66 + (13.7 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (5 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (6.8 x อายุ)
สำหรับผู้หญิง : BMR = 665 + (9.6 x น้ำหนักตัวเป็น กก.) + (1.8 x ส่วนสูงเป็น ซม.) – (4.7 x อายุ)
ซึ่ง BMR เป็นความต้องการพลังงานพื้นฐาน ที่ใน 1 วัน ไม่ควรได้รับสารอาหารต่ำกว่าค่า BMR เพราะอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมน ระบบเผาผลาญหรือการใช้สมองและความคิดได้รวมถึงการปล่อยปละละเลยอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า และสารอาหารที่ได้รับนั้นควรเป็นสารอาหารที่หลากหลายและมีคุณภาพ

 

 

ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน

 

    การนอนหลับพักผ่อนสำหรับวัยทำงาน ควรนอนหลับให้ได้อย่างมีคุณภาพกล่าวคือ นอนหลับสนิทให้ได้อย่างน้อยคืนละ 6-7 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการหลั่ง โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอภายในร่างกายทั้งจากการทำงาน และการออกกำลังกาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

    หากจัดสรรเวลาในการทำงาน การออกกำลังกาย การพักผ่อน รวมถึงการให้ความสำคัญกับโภชนาการ อย่างมีดุลยภาพ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ พร้อมกับฟังเสียงเตือนจากร่างกาย ย่อมลดความเสี่ยงจากโรคร้ายพร้อมกับการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ได้อย่างแน่นอน

 

 

ถอดบทเรียน สถาปนิกโหมงาน ดับคาโต๊ะ สู่วิธีดูแลสุขภาพสำหรับคนวัยทำงาน