- 25 ส.ค. 2561
จาก 2 Part ที่แล้ว ที่ทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ถึงกรณีที่เกิด
จาก 2 Part ที่แล้ว Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1) และ Exclusive Interview : จับตาทิศทางภัยธรรมชาติในประเทศ 10 ปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงแน่ กับ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 2)
ที่ทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ถึงกรณีที่เกิด
ภัยพิบัติรอบโลก และภัยพิบัติในประเทศไทย สำหรับวันนี้เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ที่สังคมมักตั้งคำถามถึงกรณี "โลกแตก" หรือ "วันสิ้นโลก" ซึ่ง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจดังนี้
ทีนิวส์ : เหมือนว่าประเทศไทยต้องเผชิญภัยน้ำท่วมเกือบทุกปี รัฐบาลมีการวางแผนล่วงหน้าไว้บ้างหรือไม่?
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : ขณะนี้แผนที่วางไว้ล่วงหน้าในเชิงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ได้เป็นการวางแผนล่วงหน้าแบบเป็นระบบ ไม่มีความชำนาญแบบมืออาชีพ
เป็นเพียงการรวบรวมโครงงานและแผนงาน ในแต่ละกรม กอง มาบูรณาการกันโดยที่ไม่มีความซ้ำซ้อน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าไม่มีการจัดลำดับให้ความสำคัญ เช่นการประเมินถึงความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับไหน และต้องใช้เงินเท่าไร ในพื้นที่เสี่ยงมากก็ควรจะได้รับการแก้ปัญหาก่อน แล้วจึงมาความเสี่ยงระดับปานกลาง และน้อยตามลำดับ
แต่ทุกวันนี้รูปแบบการแก้ปัญหาคือ การนำเงินมารวมกันและมาจัดสรรให้ จึงเป็นประเด็นให้บางแห่งเกิดการท่วมซ้ำซากไม่มีการแก้ปัญหา เช่นภาคกลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ในขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างที่ชัดเจน ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์น้ำอย่างปี 2554 ก็ต้องท่วมซ้ำรอย แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการทราบคือ จะท่วมพื้นที่ใด บริเวณใดบ้าง ในส่วนนี้รัฐบาลจึงต้องทำการบ้านให้มากขึ้น
ทีนิวส์ : จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่กำลังจะล้น เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย บ่อยครั้งหรือไม่ ?
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : มักจะไม่เกิดขึ้นบ่อย เพราะเป็นสิ่งที่มืออาชีพจะไม่ปล่อยให้น้ำเต็ม ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ก่อนหน้าที่พายุเซินตินจะเข้า ก็ไม่มีการคุยกันมาก่อน สิ่งที่ควรทำคือการคุยกันทุกวัน ต้องมีการประชุมวางแผน เพราะจากสถานการณ์ที่บ่งชี้ว่ากำลังจะมีปัญหาหลังจากนั้นจึงเริ่มตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมา จะเห็นได้ว่าการติดตามมอนิเตอร์เพื่อติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในประเทศและการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่การตั้งศูนย์เฉพาะกิจในครั้งนี้เป็นการตั้งภายหลังเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว จึงต้องพยายามแก้สถานการณ์ไปตามลำดับ
ทีนิวส์ : กับคำพูดที่ว่า "โลกจะแตก" หรือ "วันสิ้นโลก" มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงไหม แล้วจะเป็นอย่างไร
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ เป็นเชิงนวนิยายมากกว่า เพราะ คำว่าโลกแตกมักมีที่มาจากในภาพยนต์เช่น The Day After Tomorrow
จะเห็นได้ว่าในภาพยนต์เกิดแผ่นดินใหวครั้งใหญ่ ตามด้วยคลื่นลูกใหญ่ ถล่มเมืองนิวยอร์ค จึงดูมีความน่ากลัว แต่ในเชิงของนักวิชาการ ล้วนทราบดีว่า มีความเสี่ยง แต่ว่าไม่ถึงในระดับเดียวกับในภาพยนต์ แต่ในภาพยนต์ต้องมีการสร้างให้ดูมีความรุนแรง
ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่มีบางคนกล่าวว่า น้ำจะท่วมไปถึงนครสวรรค์ พื้นที่จะหายจนต้องอพยพไปอยู่ เขาใหญ่หรือเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างมาก อีก 80 ปีข้างหน้า น้ำจะขึ้นสูงอีกประมาณ 1 - 1.20 เมตร หมายถึงริมชายฝั่งทะเลที่จะหายไป ส่วนผู้ที่อยู่ติดทะเลตอนนี้เช่น สมุทรปราการ บางขุนเทียน อาจได้รับผลกระทบจากการที่พื้นที่หายไป 10-20 เมตร แต่พื้นที่ภาคกลางย่อมไม่ได้รับผลกระทบ หรือมหาวิทยาลัยรังสิตที่ทำการสัมภาษณ์อยู่ ซึ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-3 เมตร อีก 80 ปีข้างหน้าก็ไม่จมน้ำ โดยปกติการคาดการณ์จะอยู่ในช่วงระยะเวลา 100 ปีข้างหน้า หรือ คริสศักราช 2100 เท่านั้น
ทีนิวส์ : หากโลกไม่แตก แล้ว "วันสิ้นโลก" มีจริงไหม
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : ไม่ได้มองอย่างนั้น แต่คิดว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องกลับมาดูอีกครั้ง เพราะในขณะนี้เองอุณหภูมิของโลกได้สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ถ้าอีก 80 ปีข้างหน้าสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ณ ตอนนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ค่อยมาประเมินกัน
ทีนิวส์ : มนุษย์จะมีส่วนช่วยดูแลโลกอย่างไรบ้าง ?
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : แน่นอนว่าถ้ามนุษย์คุยกันรู้เรื่องทั้งโลก เช่นการลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ลดอุณหภูมิให้ได้ 2 องศาเซลเซียส ก็จะสามารถบรรเทาภัยที่เกิดขึ้นได้ แต่ตราบใดที่มนุษย์ยังคงแข่งขันกันอยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว แต่หากต่างพัฒนาประเทศตัวเองเพื่อให้เหนือกว่าประเทศอื่น ย่อมเป็นที่มาของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
สำหรับประวัติ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ นั้นจบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิศวกรรมชลศาสตร์ และชายฝั่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ปริญญาเอก วิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัย TOHOKU ประเทศญี่ปุ่น
ประสบการณ์
วิศวกรก่อสร้าง แหล่งน้ำมัน บงกช บ. ปตท.สำรวจและผลิต จำกัด 2535-2537
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 2540-2552 ปัจจุบัน หัวหน้าหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) มหาวิทยาลัยรังสิต และ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และผู้จัดการใหญ่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี