- 27 ส.ค. 2561
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง ภัยเงียบ ที่แอบแฝงมาโดยที่ใครหลายคนไม่รู้ตัว ที่แอบแฝงมาโดยที่ใครหลายคนไม่รู้ตัว ด้วยบริบทและรูปแบบการทำงานในยุคปัจจุบัน
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง ภัยเงียบ ที่แอบแฝงมาโดยที่ใครหลายคนไม่รู้ตัว ด้วยบริบทและรูปแบบการทำงานในยุคปัจจุบัน ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีหรือการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำงานออฟฟิศ ซึ่งอาจขัดธรรมชาติในการดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่บ้าง เพราะธรรมชาติสร้างให้ร่างกายมนุษย์นั้นมีกิจกรรมในการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมมิใช่ให้อยู่เฉยๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดโรคร้ายชนิดหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และทำร้ายร่างกายในระยะยาวหากไม่รู้จักสังเกตสัญญาณเตือนจากร่างกายหรือเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
โดยโรคนี้มีชื่อว่า ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
เป็นกลุ่มอาการที่มักพบในกลุ่มประชากรที่ทำงานออฟฟิศ เนื่องด้วยรูปแบบการทำงานด้วยท่าทางใดท่าทางหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่ายกายทั้งระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงระบบภายในเช่น ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบฮอร์โมนเป็นต้น ซึ่งหากไม่บำบัดรักษาหรือมีการป้องกันตั้งแต่ต้นอาจมีอาการป่วยที่เรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานในที่สุด
อาการส่วนใหญ่ที่พบในกลุ่มผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม เริ่มตั้งแต่ปวดศีรษะคล้ายกับปวดไมเกรน บางรายอาจลามมาถึงนัยน์ตา เนื่องจากใช้สายตา หรือเกิดความเครียดจากการทำงานและพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ เช่น หลัง ไหล่ ปวดตามแขนและข้อมือ จากการนั่งทำงานในอิริยาบทเดิมเป็นเวลานาน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่รู้สึกแขนขาอ่อนแรง หรือเป็นเหน็บชาบ่อยๆ อาจมีภาวะการไหลเวียนเลือดผิดปกติร่วมด้วย และอาจส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับตามมา ทำให้การพักผ่อนต่อวันไม่เพียงพอซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาวได้
หากผู้ป่วยปล่อยปละละเลย ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เข้ารับการบำบัดหรือปรึกษาแพทย์อย่างเป็นกิจลักษณะ อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรงตามมา เช่น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด อาการเหล่านี้หากรุนแรงมากต้องรักษาระยะยาวหรืออาจต้องผ่าตัด นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีความเครียดที่สะสมจากการทำงาน จะเพิ่มความเสี่ยง ในการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ในกลุ่มที่ชอบทานจุบจิบและใช้อาหารเพื่อบำบัดความเครียด ไม่แบ่งเวลาเพื่อออกกำลังกายตามความเหมาะสม จะมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง
การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมนั้นมีหลากหลายวิธีด้วยกันซึ่งสามารถเริ่มได้จากตัวเอง ดังนี้
-หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่ง ในอิริยาบถเดิมนานๆ เกินกว่า 30 นาที หรือหากมีความจำเป็นควรลุกไปเดินเพื่อขยับร่างกายหรือยืดเสื้นยืดสายบ้าง
-ไม่ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหนักเกินไป
-ปรับอุปกรณ์การทำงานให้มีความเหมาะสมกับตนเอง เช่น ซื้อแว่นตากรองแสง ใช้เก้าอี้เพื่อสุขภาพ
-ออกกำลังกายเป็นประจำและบริโภคอาหารที่มีมีประโยชน์
- พักผ่อนให้เพียงพอหาเวลาไปเที่ยวผ่อนคลายเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากสถานที่ทำงานบ้างตามความเหมาะสม
-หากพบว่ามีความเสี่ยงและเริ่มแสดงอาการ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อเราเปลี่ยนงานไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานของเราเอง เพื่อตัวเราเอง หมั่นสังเกตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะเมื่อสุขภาพกายดีแล้ว สุขภาพจิตก็จะดีตามไปด้วย