- 03 ก.ย. 2561
"สุรชัย" ห่วงเลือกตั้ง 62 อาจวนไปเจอปัญหาเดิม หลังข่าวซื้อเสียงล่วงหน้าหนาหู ระบุอาจทำให้ ลต.ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม
"สุรชัย" ห่วงเลือกตั้ง 62 อาจวนไปเจอปัญหาเดิม หลังข่าวซื้อเสียงล่วงหน้าหนาหู ระบุอาจทำให้ ลต.ไม่สุจริต-เที่ยงธรรม
วันนี้ (3 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการ เนื่องในวันครบรอบ 20 ปี การสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า "20 ปี สถาบันพระปกเกล้ากับการพัฒนาประชาธิปไตย" โดยตอนหนึ่งของงานสัมมนา มีเวทีสะท้อนมุมมองต่อการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถาบันพระปกเกล้ากับการพัฒนาประชาธิปไตย" โดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อสะท้อนภาพการทำงานและก้าวต่อไปของสถาบันฯ
โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่าปัญหาที่พบสำคัญ คือขาดการต่อยอดนำองค์ความรู้จากการเข้าอบรมหลักสูตรของสถาบันฯ ไปพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมและขาดการร่วมมือขององค์กรและหน่วยต่างๆ ในบทบาทพัฒนาประชาธิปไตย เพราะยอมรับว่าการพัฒนาประชาธิปไตยไม่ใช่หน้าที่ หรือเกิดจากการทำงานของสถาบันหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกหน่วยงานต้องเกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ขณะที่ข้อเรียกร้องให้สถาบันฯ แสดงจุดยืนทางการเมืองตนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะบุคลากรสำคัญของสถาบันฯ ผ่านการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมือง
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามีคำถามว่าทำไมสมาชิกของรัฐสภาไม่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การเลือกตั้งที่จะเกิดในปี 2562 และหลังการเลือกตั้งจะกลับไปเหมือนเดิมอีกหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภาพวน แต่ขออย่าวนกลับไปสู่ที่เดิม ทั้งนี้ตนมีสิ่งที่สะท้อนให้เห็นต่อประเด็นดังกล่าว ว่าด้วยความพร้อมของการเลือกสมาชิกรัฐสภา
"ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ได้กำหนดเงื่อนไขของการมีส.ส. โดยระบุว่า ในสมัยที่สองของส.ส. แม้จะให้มีจากการเลือกตั้ง แต่ต้องมีส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร จำนวน 70 คนผสมอยู่ด้วย แม้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท ด้วยปัจจัยสำคัญคือ การรอให้ประชาชนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ประถมศึกษาปีที่ 4 ให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศก่อน ดังนั้นสังคมและยุคสมัยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยต้องอาศัยเงื่อนไขด้านเวลา" นายสุรชัย ระบุทั้งยังบอกด้วยว่า
"ปัญหาการเมืองที่ผ่านมาบางเรื่องไม่เคยนำประสบการณ์ในอดีตมาพัฒนาหรือต่อยอด เหมือนรายละเอียดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน พบว่าบางประเด็นที่ใช้ไม่ได้ผล ถูกตัดทิ้งออกไป ทำให้ขาดการพัฒนาหรือต่อยอด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าการเลือกตั้งในสมัยหนึ่ง ฝ่ายค้านมีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น แต่ผมถือว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่อยากให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ และใสสะอาดอย่างแท้จริง แต่สถานการณ์ที่ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีเรื่องการซื้อเสียงล่วงหน้า ทำให้ความคาดหวังเลือกการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม นั้นยังคาดหวังไม่ได้" นายสุรชัย กล่าว
นอกจากนี้ รองประธาน สนช.คนที่ 1 ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ประกาศคลายล็อคการเมืองอย่างเป็นทางการ พบการโจมตี และฟ้องร้องประชาชนออกมาจากฝ่ายการเมืองว่า พบการซื้อเสียงล่วงหน้า อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ตนถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าวิตก และสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการความคิด อุดมการณ์จิตสำนึกให้การเลือกตั้งสุจริตยังคาดหวังไม่ได้ ดังนั้นทุกคน ฐานะเครือข่ายประชาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้าต้องช่วยกันดูแลประชาธิปไตยของประเทศ