- 10 ก.ย. 2561
การทำอัตวินิบาตกรรมเป็นอีกเรื่องที่น่าเศร้าสลดที่ได้เกิดขึ้นในสังคมโลก ในแต่ละวันประชากรโลกหลายคนเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองลง อาจด้วยเพราะปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน
การทำอัตวินิบาตกรรมเป็นอีกเรื่องที่น่าเศร้าสลดที่ได้เกิดขึ้นในสังคมโลก ในแต่ละวันประชากรโลกหลายคนเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองลง อาจด้วยเพราะปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม หรือปัจจัยทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในรูปแบบของโรคที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรคทางจิตเวช หรือภาวะซึมเศร้า เหล่านี้เป็นต้น เป็นเหตุให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะตัดสินใจ "หนี" และ "จบ" ปัญหาเหล่านี้ด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" ในที่สุด
การฆ่าตัวตายนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาต่อทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์รวมของประเทศชาติ เพราะความสูญเสียในแต่ละครั้ง ยังเป็นการส่งผลกระทบต่อจิตใจและสร้างความโศกเศร้าแก่ผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งครอบครัว คนรักรวมถึงผู้ใกล้ชิดของผู้ตายอีกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อยจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกที่คาดว่า ในปีหนึ่ง จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลา อาจอนุมานได้ว่า ทุกๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน และพบว่าผู้ที่เคยทำร้ายตัวเองแล้วครั้งหนึ่งมีโอกาสที่จะทำซ้ำและประสบผลสำเร็จในครั้งต่อๆ ไป นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังติดอันดับ 3 ของสาเหตุการตายของประชากรโลกในช่วงอายุ 15-35 ปี และผู้สูงอายุช่วง 70-75 ปี โดยมักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง
และในวันที่ 10 ก.ย. ของทุกปีองค์กรการอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็น วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี 2003 เพื่อให้ทุกคนบนโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญและทำความเข้าใจถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อที่จะไม่เกิดเรื่องเศร้ากับตนเองหรือคนรอบข้าง เพราะการฆ่าตัวตายนั้น สามารถป้องกันได้
ในปัจจุบันจากการสำรวจ พบว่ามีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการฆ่าตัวตายอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัยหลักๆ อันได้แก่
1. ปัจจัยทางชีวภาพ หรือการเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่ง 9 ใน 10 ของ ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีความเจ็บป่วยทางจิตเวชทั้งสิ้น โดยมีสาเหตุมาจากภาวะโรคซึมเศร้า ที่มาจากปัจจัยภายในร่างกายหรือความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยรวมมักพบว่าผู้ป่วยจะมีความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่มีชีวิตชีวา ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างที่เคย ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการตัดสินใจลดลง แต่ตัวผู้ป่วยเองหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็น หากไม่รีบทำการรักษาอย่างถูกต้องอาจนำมาซึ่งเหตุการณ์อันน่าสลดในที่สุด
2. ปัจจัยทางด้านสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกดั่งเช่นวัฒนธรรมวัตถุนิยมที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ การที่สังคมใดสังคมหนึ่ง ให้ความสำคัญกับความทันสมัยมากกว่าที่จะเป็นการการพัฒนาด้านจิตใจ ย่อมส่งผลให้เกิดสภาวะการดิ้นรนและการแข่งขันตามมา จนในบางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินเพื่อตอบสนองความอยากได้อยากมีอันไม่สิ้นสุด อาจนำมาซึ่งความเครียด เป็นเหตุให้อัตราการฆ่าตัวตายในสังคมนั้นเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีของระบบการสื่อสารที่มีความทันสมัยมากขึ้น กลับเปรียบเสมือนดาบสองคมที่นอกจากจะส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมลดน้อยลง ยังพบว่าประชากรบางกลุ่มที่ขาดวุฒิภาวะมักเสพสื่อออไลน์ผิดวิธีจนเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย เช่น การดูคนฆ่าตัวตายผ่านไลฟ์สด หรือเว็ปไซต์ที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเหล่านี้เป็นต้น
3. ปัจจัยทางจิตใจ ผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายมักมีความคิดว่า ตนเองนั้นไร้ทางออก ไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ เปรียบเสมือนคนไร้ค่า จนเกิดเป็นความรู้สึกที่ท้อแท้และสิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
แน่นอนว่าการ "ฆ่าตัวตาย" นั้นไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่ที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนเลือกที่จะจบชีวิตตนเองด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่าขาน และความทรงจำแก่คนที่อยู่ข้างหลังเพียงเท่านั้น อย่างเช่น
พันเอก (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร หนึ่งในแกนนำสำคัญของนายทหาร จปร.7 ผู้ผ่านการเป็นนักรบอาชีพมาอย่างโชกโชน ทั้งยังสร้างวีรกรรมในสงครามบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ด้วยการเอาจริงเอาในการตอบโต้การล่วงละเมิดอธิปไตยของไทยจนได้ถูกขนานนามว่า "วีรบุรุษตาพระยา" นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศจากเหตุการณ์ "กบฏเมษาฮาวาย" แต่ทว่าในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้การท่านนี้ ภายหลังต้องต่อสู้กับโรคร้ายมานาน ในที่สุดจึงตัดสินใจ เลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลงด้วยอาวุธปืนในห้องน้ำที่บ้านของตน เป็นการปิดฉากชีวิตของตนเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ครอบครัวและคนใกล้ชิดอีกต่อไป
พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าสร้างความสะเทือนใจแก่วงการสีกากีเป็นอย่างมาก เมื่ออดีตรองอธิบดีกรมตำรวจท่านนี้ ทิ้งจดหมายให้เหตุผลของการฆ่าตัวตาย พร้อมสั่งเสียให้ลูกหลานจัดงานศพ และจบชีวิตของตัวเองด้วยการกระโดดจากชั้น 7 ห้างเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ตกลงมากระแทกพื้นกลางร้านโดนัทดัง ภายหลัง รปภ.รีบนำส่งแพทย์เพื่อยื้อชีวิตอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไม่ทัน สิ้นใจสลดในวัย 81 ปีเหลือไว้เพียงตำนาน นายตำรวจมือวิสามัญฯ คดี “โจ ด่านช้าง” ให้ชนรุ่นหลังได้เล่าขานสืบต่อไป ส่วนทางด้านครอบครัวของนายตำรวจใหญ่ท่านนี้กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลายปีแล้ว พยายามดูแลอย่างใกล้ชิดแต่ไม่คาดคิดจะเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น
ในเส้นทางสายดนตรีก็พบว่ามีศิลปินบางคนจบชีวิตตัวเองลง ด้วยปัญหาโรคทางจิตเวชเช่นกัน เพราะเมื่อปี 2017 ได้เกิดข่าวช็อควงการเพลงช็อคระดับโลก เมื่อ “เชสเตอร์ เบนนิงตัน” นักร้องนำวง Linkin Park ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายในวัย 41 ปี ก่อนปล่อยซิงเกิลสุดท้ายในชีวิต “Talking To Myself” ด้วยการแขวนคอ ที่บ้านพักในนครลอสแองเจลีส เชสเตอร์ เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกันที่ฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้า ครั้งหนึ่งเขาเคยเปิดเผยชีวิตในวัยเด็กว่าเคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งปัญหาในครอบครัวจากการหย่าร้างของพ่อแม่ จนนำมาสู่การใช้สารเสพติดเพื่อเยียวยาบาดแผลในจิตใจของเขา
ทางฝั่งเอเชียก็พบปัญหาศิลปินฆ่าตัวตายไม่ต่างกัน จากกรณีมือกีต้าร์ผู้มีเอกลักษณ์อย่าง ฮิเดะโตะ มะสึโมะโตะ หรือ "ฮิเดะ" จากวงที่เป็นตำนานระดับโลกอย่าง X Japan ต้องจบชีวิตตัวเองลงในวันเพียง 34 ปี จากการที่ใช้ผ้าเช็ดตัวผูกคอกับลูกบิดประตูจนขาดอากาศหายใจในที่สุด เรียกได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตายที่ดูพิศดารอยู่ไม่น้อยจนภายหลังแฟนเพลงจำนวนมากเกิดความคลางแคลงใจในการตายของฮิเดะ เพราะช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของวง X Japan อย่างไรก็ตามภายหลังข่าวฮิเดะฆ่าตัวตายได้แพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้แฟนคลับหลายคนต่างฆ่าตัวตายตาม เพราะรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนหลายคนประณามว่าฮิเดะเป็นตัวอย่างให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนต้องคิดสั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกกรณีตัวอย่าง จากการฆ่าตัวตายในหมู่แฟนเพลงเพราะผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรงจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถ เริ่มป้องกันได้จากครอบครัว
1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเกินไปและไม่ใกล้ชิดจนเกินไป สมาชิกมีความเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน
2. สื่อสารดีต่อกัน (Communicate) การสื่อสารที่ดีควรเป็นการสื่อสารที่สื่อจากความรู้สึกของตัวเองโดยตรง เช่นบอกความรู้สึกความต้องการอย่างจริงใจ และถามความเห็นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสนใจในความรู้สึกนึกคิด แสดงความชื่นชมหรือขอบคุณเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อสารได้โดยไม่ใช้คำพูดเช่น มองหน้า สบตา การยิ้ม จับมือ โอบกอด การสัมผัส ก็จะช่วยสร้างพลังให้คนในครอบครัวได้
3. เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน (Care) ด้วยการให้เวลากับคนในครอบครัว ใช้เวลาในทำกิจกรรมร่วมกัน ใส่ใจสอบถาม ร่วมมือกันเมื่อเกิดความขัดแย้ง เมื่อคนในครอบครัวมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็พร้อมช่วยเหลือดูแล
นอกจากนี้หากพบคนรอบข้างมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง ควรที่จะคอยระวังอย่างใกล้ชิดให้อยู่ห่างจากอุปกรณ์หรือสถานการณ์ที่สามารถทำร้ายตัวเองได้ แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น www.dmh.go.th สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข