- 19 ก.ย. 2561
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน"
ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเรียนกับนายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) ชาวอัลซาส (Alsace) เรื่องการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิกเป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนจนชำนาญ ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน, คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลืองเช่นทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์
แนวดนตรีที่พระองค์โปรดคือแจ๊สดิ๊กซีแลนด์ (Dixieland Jazz) ซึ่งมีที่มาจากชื่อวงดนตรีแจ๊สนักดนตรีผิวขาว The Original Dixieland Jazz Band เป็นสไตล์ของวงดนตรีจากเมืองนิวออร์ลีนส์ เป็นแจ๊สที่มีจังหวะและความสนุกเร้าใจ ตื่นเต้น ครึกครื้น สนุกสนานเร้าใจ The Preservation Hall Jazz Band วงดนตรีแจ๊สจากนิวออร์ลีนส์คือวงโปรดของพระองค์ ซึ่งเล่นดนตรีกันสดๆ ไม่มีโน้ต ทำให้นักดนตรีต้องใช้ความสามารถมาก
ขณะมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง และในปี พ.ศ. 2489 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแสงเทียน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงแก้ไขทำนอง และคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมา บรรเลงในเวลานั้น ต่อมา ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ. 2490 และใน พ.ศ. 2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้น ล้วนแสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า เช่น เพลงยามเย็น เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำร้องสมบูรณ์ทั้งสองภาษาและได้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ซึ่งเป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที และถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง "พรจากฟ้า" ในปี 2560 อีกด้วย
เพลงใกล้รุ่ง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์)
เพลงมาร์ชราชวัลลภที่เหล่าพสกนิกรชาวไทยล้วนคุ้นเคยติดหูกันดี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ "ราชวัลลภ" และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า "มาร์ชราชวัลลภ" (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2495
เพลงพรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ และยังเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง "พรจากฟ้า" เช่นกัน
เพลงยิ้มสู้หรือ Smiles เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 16 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2495
เพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล หรือ The Colours March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 17 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทยเพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ
เพลง Oh I Say เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสร สวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย
เพลงยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 ทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ชื่อ "ยูงทอง" มาจากหางนกยูงฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้ห้าต้นที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนึ่ง เพลงนี้อาจเรียกอย่างอื่นได้อีก เช่น "เพลงพระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "ธรรมศาสตร์"
เพลงความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็กๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค
ปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง แต่ละเพลงมีท่วงทำนองที่ไพเราะประทับใจผู้ฟังสอดคล้องกับเนื้อหาเพลงซึ่งมีความหมายดีงาม ทั้งในแง่ของภาษาและการสื่อถึงเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง พระองค์ทรงประพันธ์ทำนองเองทั้งหมด แต่ละเพลงล้วนมีความไพเราะอย่างน่าทึ่ง ทั้งยังมีเอกลักษณ์ในการประพันธ์ทำนองของพระองค์เอง
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า ดนตรี นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2542 มีความตอนหนึ่งดังนี้
"การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่างๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี"