- 26 ก.ย. 2561
จากกรณีเจย์ดีเก่าในวัดพระยาทำ ซอยอรุณอมรินทร์ 15 ซึ่งอยู่ในระหว่างการบูรณะพังถล่มทับคนงาน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561
จากกรณีเจดีย์เก่าในวัดพระยาทำ ซอยอรุณอมรินทร์ 15 ซึ่งอยู่ในระหว่างการบูรณะพังถล่มทับคนงาน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 เบื้องต้นพบผู้ติดอยู่ใต้ซากเจดีย์ 3 คน หนึ่งในนั้นอาการสาหัส เจ้าหน้าที่จึงเร่งเข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช ในเวลาต่อมามีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นคนงานก่อสร้าง ทราบชื่อนายสายันต์ ทองสาย ถูกฝังทั้งเป็นโดยที่ไม่มีใครรู้
โครงการบูรณะในครั้งนี้ได้เริ่มทำเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โดยก่อนหน้า ตัวเจดีย์ทรงหอระฆังได้เกิดการเอียง จึงแจ้ง ให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะ ทว่าสืบทราบภายหลัง กรมศิลปากรเป็นเจ้าของโครงการจริง แต่บริษัทปรียะกิจ จำกัด เป็นผู้รับเหมา ด้วยวงเงินปรับปรุง 8.65 ล้านบาท โดยมีวิศวกรคุมงาน คือนายสุรชัย จันทร์เงิน นายช่างโยธาชำนาญการ กองโบราณคดี
ต่อมานายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ขณะนี้ได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว และกำลังตรวจสอบสาเหตุที่แน่ชัดโดยยังไม่สรุปว่าเกิดจากความประมาทหรือเป็นอุบัติเหตุจากความทรุดโทรมของตัวเจดีย์ ซึ่งจะมีการพูดคุยรายละเอียดระหว่างวิศวกรควบคุมงานของบริษัทและกรมศิลปากรกันอีกครั้ง โดยยืนยันว่าเจ้าของโครงการจะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ทั้งนี้ เจดีย์คูหาองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่าเจดีย์ยักษ์ เป็นรูปนาค 8 ตัว คชสาร 8 ตัว ยักษ์ 8 ตน ครุฑจับนาค 4 ตัว เทพนม 8 องค์ ถือเป็นเจดีย์แห่งหนึ่งที่มีความงดงาม โดยมีผู้สันนิษฐานว่าแต่เดิมเจดีย์องค์นี้เคยเป็นหอระฆังมาก่อ ส่วนวัดพระยาทำวรวิหารนั้น เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างมาแต่สมัยใด เดิมชื่อว่าวัดนาค เป็นวัดพี่น้องคู่กับวัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย
โดยวัดนาคตั้งอยู่ฝั่งเหนือ วัดกลางอยู่ฝั่งใต้ ต่อมารัชกาลที่ 2 โปรดเกล้า รับเป็นธุระบูรณะปฏิสังขรณ์ แบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนาเป็นวัดหลวง จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดนาคเป็นวัดพระยาทำวรวิหารที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ทว่าเรื่องไม่จบลงง่ายๆ แต่เพียงเท่านี้ เพราะบริษัทปรียะกิจ จำกัด เคยปรากฏชื่อหน้าหนึ่งจากเหตุการณ์ดราม่า การบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เมื่อปีที่แล้ว จนเป็นเหตุให้สังคมออกมาประณามและเรียกร้องถึงคุณค่าทางศิลปกรรมที่หายไป มีการนำภาพก่อนและหลังการบูรณะมาเปรียบเทียบรายละเอียดให้เห็นถึงภาพก่อนและหลังที่แตกต่างกัน จากตัวพระปรางค์โทนสีดำดูมีเสน่ห์ลึกลับเต็มไปด้วยมนต์ขลัง กลายมาเป็นสีขาวสดใสราวกับงานศิลป์ราคาถูก
จนในเวลาต่อมา มีการวิเคราะห์ผ่านผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลป์ รวมถึงด้านโบราณคดีว่าปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการจ้างเหมาบูรณะ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการบูรณะในรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีผู้รับเหมา แต่ทว่าต้องตรวจสอบว่ากระบวนการออกแบบ และการทำสัญญาจ้าง (ทีโออาร์) มีคุณภาพมากแค่ไหน และต้องกลับมาทบทวนว่าที่ผ่านมาเคยมีปัญหาในลักษณะนี้ไหม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วก็ควรตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ มีประสบการณ์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สำคัญที่สุดคือคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องมีอำนาจเหนือกรมศิลปากร
นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า กรมศิลปากรใช้บุคลากรที่ทำหน้าที่ควมคุมงานผิดกอง งานในลักษณะนี้ควรจะตกเป็นความรับผิดชอบของกองสถาปัตยกรรมหรือกองหัตถศิลป์ แต่กลับให้กองโบราณคดีทำหน้าที่แทน เมื่อสังเกตดูแล้วจะพบว่ากรณีวัดพระยาทำ วิศวกรคุมงานก็มาจากกองโบราณคดีเช่นกัน และยังมีการยกตัวอย่างจากกรณีพระเมรุมาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจ้างผู้รับเหมาที่มีความสามารถใส่ใจรายละเอียดต่อเนื้องาน ผลงานย่อมออกมาสวยงามมีคุณภาพ ซึ่งคนส่วนใหญที่ไปทำงานก็คือคนของกรมศิลปากรที่เกษียณทั้งนั้น ทว่างานประเภท การจ้างเหมาบูรณะผู้รับเหมาบางคนมุ่งหวังแต่ประสิทธิผลโดยไม่สนใจประสิทธิภาพ ผลงานจึงออกมาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
จากประเด็นดังกล่าวจึงมีการสืบค้นต่อมาภายหลังพบว่า บริษัท ปรียะกิจ จำกัด นั้น ระบุที่ตั้งอยู่เลขที่ 1293/116 ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 ถนนสุขุมวิท 101/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเป็น บริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2541 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ในหมวดธุรกิจ ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย โดยมีวัตถุประสงค์คือ "รับเหมาก่อสร้างอาคารบ้านเรือน" โดยมีชื่อกรรมการคือ 1.นายวิเชียร สะไบบาง 2.นายพงษ์ศาสตร์ ปรียะพานิช และ 3.นางสาววรางค์ศิริ วิริยะศิริกุล
ยิ่งกว่านั้นเมื่อค้นข้อมูลลึกลงไปยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าเหตุใด นายวิเชียร สะไบบาง กรรมการบริษัทลำดับที่ 1 จึงมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้สูงอายุที่กำลังรับเบี้ยสงเคราะห์ผู้สูงอายุ จ.กาญจนบุรีอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอชื่อของ บริษัท ปรียะกิจ จำกัด ยังถูกขึ้นบัญชีดำโดย สคบ. และถูก สคบ. มีมติให้ดำเนินคดีเมื่อปี 2560 จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏความโปร่งใสแต่อย่างใด จนมาเกิดเหตุการณ์เจดีย์วัดพระยาทำถล่มขึ้น ทำให้มีการขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวในอดีตกลับขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เริ่มได้กลิ่นไม่ค่อยดีลอยกระแทกจมูกให้ได้รู้สึกกันแล้ว ซึ่งกลิ่นที่ว่าจะเป็นกลิ่นเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลรายย่อย หรือรายใหญ่นั้นคงต้องติดตามกันต่อไป