- 27 ก.ย. 2561
กำลังเป็นกระแสสังคมกับเหตุการณ์นางพยาบาลรายหนึ่งใช้ความรุนแรงกับผู้ป่วยชาย วัย 90 ปี ภายในห้องไอซียูโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก จนโด่งดังเป็นกระแสให้หลายคนหยิบมาวิพากษ์ วิจารณ์ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยหลังจากคลิปมีการส่งต่อเป็นจำนวนมากทางคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลพระพุทธชินราช
กำลังเป็นกระแสสังคมกับเหตุการณ์นางพยาบาลรายหนึ่งใช้ความรุนแรงกับผู้ป่วยชาย วัย 90 ปี ภายในห้องไอซียูโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก จนโด่งดังเป็นกระแสให้หลายคนหยิบมาวิพากษ์ วิจารณ์ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยหลังจากคลิปมีการส่งต่อเป็นจำนวนมากทางคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลพระพุทธชินราชได้ออกมาแถลงผ่านไลฟ์สดยอมรับถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งขอเวลาในการตรวจสอบความจริงว่าเกิดจากเหตุใด เพราะนางพยาบาลรายนี้เดิมทีเป็นคนอารมณ์ดี ไม่ใช่คนอารมณ์รุนแรงจึงอยากขอตรวจสอบก่อนในตอนนี้ได้ย้ายให้ไปประจำยังแผนกอื่นแล้ว
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล ก็ได้ออกมาแถลงข่าวบอกว่าจะตรวจสอบให้ถึงที่สุด โดยจะรู้ผลในวันที่ 28 ก.ย. 2561 นี้อย่างแน่นอน
เบื้องต้น ผศ.อังคณา ได้สอบถามไปยังหัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤติบอกว่าพยาบาลคนนี้ทำงานดีมาตลอด รวดเร็ว ไม่มีกิริยารุนแรง ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ช่วงขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่พยาบาลเห็นคนไข้อยู่ขอบเตียง เกรงว่าจะตกจึงใช้แรงกระชากเพราะปกติการขยับคนไข้ต้องใช้พยาบาลช่วยกันถึง 2 คน และยังมีความเป็นห่วงจึงใช้หมอนรองศีรษะ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขอให้รอผลการตรวจสอบเพื่อหามูลเหตุที่แน่ชัด ในตอนนี้ทางสภาการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุและวิธีการปรับปรุงแก้ไขต่อไปของพยาบาลผู้ก่อเหตุ
หลังจากนั้นไม่นานชาวเน็ตก็มีการขุดลึกถึงวงการแพทย์และพยาบาลว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับการปฎิบัติงานของข้าราชการผู้กุมความเป็นความตายของผู้ป่วยไว้ในมือ เพราะหากย้อนดูในรอบสัปดาห์นี้จะเห็นว่าเกิดเหตุผิดพลาดในวงการแพทย์ถึง 4 เคส คือ พยาบาลทำรุนแรงต่อผู้ป่วย หมอลืมผ้าก๊อซหลังผ่าตัดไว้ในช่องท้อง คนไข้โดนทำร้ายที่ศีรษะแต่พยาบาลกลับรอบัตรประชาชนและเข็นคนไข้ตกเตียง จนอาการทรุด
โดยเหตุการณ์ความผิดพลาดครั้งล่าสุดของวงการแพทย์คือเหตุการณ์ลืมผ้าก๊อซไว้ในช่องท้องคนไข้หลังเดินทางไปผ่าตัดเนื้องอกในไตเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ที่โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังจากนั้นจึงได้กลับมารักษาที่บ้านจนเวลาผ่านไปนายแอ๊ด เกิดปวดท้องอย่างหนักจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งแต่เป็นคนละโรงพยาบาลกัน แพทย์ได้อัลตราซาวด์ช่องท้องพบผ้าก๊อซอยู่ภายในท้องจึงรีบทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลชุมแพ
โดยระหว่างที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลชุมแพ นายแอ๊ด มีอาการหนักถึงขั้นทรุดต้องนอนในห้องไอซียู นานกว่า 10 วัน จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 ในที่สุด ซึ่งก่อนหน้านั้นทางโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ได้ให้ญาติเซ็นใบขอรับเงินกรณีการผ่าตัดบกพร่อง 4 หมื่นบาท ก่อนจะให้ผู้เสียชีวิตกลับบ้านทั้งอาการยังสาหัสอยู่สร้างความสงสัยให้เหล่าญาติผู้เสียชีวิต โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 นางบุญถม ลายภูเขียว น้องสาวนายแอ๊ด ลายภูเขียว ผู้ตาย ได้เดินทางไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมพร้อมทนายนายวสันต์ ชูชัย ทนายอาสา ประจำจังหวัดขอนแก่น ยังศูนย์ดำรงธรรม ศาลาว่าการจังหวัดขอนแก่น ถึงกรณีแพทย์มีความบกพร่องในการรักษาของโรงพยาบาลชุมแพ
ในวันเดียวกันนั้น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.ร.พ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเนื่องจากพี่ชายของนางบุญถม เข้ารับการรักษาตั้งแต่เดือน มิ.ย. แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกในไต เมื่อส่งชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ทางโรงพยาบาลจึงนัดให้ผ่าตัดในเดือน ก.ค. 2561 มีแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์มาช่วยผ่าตัด กรณีผ้าก๊อซนั้นเป็นเรื่องจริง ทางโรงพยาบาลยอมรับและรับผิดชอบโดยดูแลอาการผลข้างเคียงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และรักษาอยู่ประมาณ 13 วัน หลังจากอาการดีขึ้นจึงกลับบ้านไปพักฟื้น และพบว่าหลังจากนั้นอีก 2 เดือนผู้ป่วยเสียชีวิต
โดยจากกรณีเรื่องนี้ทางนางบุญถม น้องสาว ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากทางโรงพยาบาลชุมแพให้รับผิดขอเงินเยียวยา กรณีพี่ชาย เสียชีวิต พร้อมค่าจัดงานศพ 3 แสน แต่ต้องติดตามต่อไปว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร
ถัดมาอีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 หลังชาวเน็ตต่างแชร์เรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งกรณีโรงพยาบาล ที่จังหวัดชลบุรีไม่รับรักษาคนไข้เนื่องจาก ต้องรอบัตรประชาชน โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ตั้งคำถามไปยังชาวเน็ตว่าผู้บาดเจ็บนั้นมีบาดแผลถูกตีที่ศีรษะสาหัส เหตุใดถึงต้องรอแต่เลขบัตรประชาชนถึงจะสามารถรักษาได้ แม้ว่าครอบครัวจะยอมจ่ายเงินเองไม่ใช้สิทธิการรักษาใดๆ แต่ทางโรงพยาบาลก็ไม่ยินยอมให้รักษา
โดยพยาบาลยืนยันว่าต้องรอบัตรประชาชนก่อน หลังจากนั้นล่วงเลยมา 2 ชั่วโมง ถึงได้รักษา โดยผลปรากฎว่าหนุ่มคนดังกล่าวมีอาการเลือดคลั่งในสมอง และกระดูกหัก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลชลบุรีอย่างเร่งด่วนหลังจากเรื่องนี้ออกไปชาวเน็ตต่างเข้ามาตั้งคำถามว่าเลขบัตรประชาชนนั้นสำคัญกว่าชีวิตคนหรือเหตุใดถึงไม่รักษาผู้บาดเจ็บก่อนจนกลายเป็นที่สงสัยต่อคนที่ได้อ่านเรื่องราวนี้ ทั้งยังไม่มีการเคลื่อไหวใดๆจากทางโรงพยาบาลที่หนุ่มรายนี้ไปรักษา ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเหตุใด
ต่อมากับอีกเหตุการณ์จากกรณีของผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ได้ออกมาเล่าเหตุการณ์บุรุษพยาบาล โรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่ เข็นเตียงผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในสมองเนื่องจากประสบอุบัติเหตุล้มอย่างแรง จนเตียงพับร่างของผู้ป่วยร่วงลงมาโดยเฉพาะส่วนศีรษะที่ตกลงมา ทั้งสายเครื่องช่วยหายใจยังหลุดออกมากระแทกกับพื้นอย่างแรง จนทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ตกใจไปตามๆกันและไม่เชื่อต่อสายตาว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในโรงพยาบาลได้
ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเกี่ยวกับพื้นที่โรงพยาบาลมีความลาดชัน ทำให้ขาเตียงด้านหน้าเกิดพับลงจนเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ในส่วนของคนไข้ต่อมาได้ถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทางด้านผู้บริหารของโรงพยาบาลนครพิงค์เชียงใหม่ได้นำกระเช้าดอกไม้ไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น
โดยทั้ง 4 เคส เป็นที่น่าคิดว่าระบบการจัดการของแต่ละโรงพยาบาลนั้นมีความบกพร่องหรือไม่ ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เหตุใดถึงไม่ได้มาตรฐานแม้ชำรุดแต่ยังนำมาใช้กับคนไข้ได้ แม้จะมีคำอ้างว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นไม่เพียงพอแต่ก็ไม่น่าจะฝืนนำมาใช้เพราะจะทำให้ยิ่งอันตรายต่อชีวิตคนไข้กว่าเดิม ทั้งระบบกฎหมายค่าชดใช้แก่ผู้ป่วยยังไม่มีความชัดเจน สร้างความสงสัยให้แก่ญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตจนกลายเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแล้วแต่เคสกันไป
ทั้งนี้ความปลอดภัยของผู้ป่วยถือเป็นผลลัพธ์การบริการที่มีคุณภาพและเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพในระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ดังนั้นการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงควรมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เห็นความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งแพทย์ พยาบาลวิชาชีพในระดับปฏิบัติการ ควรปฏิบัติงานตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด มีการพัฒนาการปฏิบัติงาน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนา และประเมินค้นหาความเสี่ยงและรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาอยู่เสมอเพื่อลดความอคติเกี่ยวกับการบันทึกรายงานอุบัติการณ์การเกิดความเสี่ยง โดยตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิผู้ป่วยและจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นหลัก ไม่ให้เกิดความผิดพลาดตามมาในภายหลังอย่าง 4 เคสที่กล่าวมา