- 30 ก.ย. 2561
เรียกว่าราหูเข้าโดยแท้สำหรับ "ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม" หลัง "นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม" มีการโพสต์ข้อความผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก ถึงกรณีทนายหน้าหล่อแอบช่วยเหลือคนผิด จนเป็นที่ฮือฮาเพราะหลายคนมุ่งเป้าไปที่ทนายตั้ม เพราะเพิ่งทำคดีให้ "เอมี่ อาเมเรีย จาคอป"
เรียกว่าราหูเข้าโดยแท้สำหรับ "ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม " หลัง "นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม" มีการโพสต์ข้อความผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก ถึงกรณีทนายหน้าหล่อแอบช่วยเหลือคนผิด จนเป็นที่ฮือฮาเพราะหลายคนมุ่งเป้าไปที่ทนายตั้ม เพราะเพิ่งทำคดีให้ "เอมี่ อาเมเรีย จาคอป" จนสามารถยื่นประกันตัวได้เมื่อไม่นานนี้ และดูเหมือนเรื่องนี้จะไม่จบลงง่ายๆ เพราะนายอัจฉริยะ เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบในคดีว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องและมีการรับเงินกันหรือไม่เพื่อให้คดีบิดเบือนจากความเป็นจริง
โดยในเรื่องนี้ วันที่ 28 ก.ย. 2561 พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีนี้ว่า จากการตรวจสอบหลังนายอัจฉริยะ นำเรื่องมายื่นให้นั้น ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อคดีของเอมี่ อาเมเรีย จาคอป มีความบกพร่องจริงในการปฎิบัติหน้าที่ 5 - 6 นาย ซึ่งเป็นชุดจับกุม มีพนักงานสอบสวนหลายระดับ
รวมถึงเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมระดับสูงรวมอยู่อีกด้วย ทั้งนี้ยังต้องรอการตรวจสอบต่อไป ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ท่านใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง ในตอนนี้ทาง พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งให้ พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น. เป็นผู้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
นอกจากนี้เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 ก.ย. 2561 ทางนายอัจฉริยะ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความฯ เพื่อขอให้ทางสภาทนายความตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม กรณีการเรียกเงินจากพ่อค้า - แม่ค้าส่งออกกุ้ง จ.สมุทรสาคร จำนวน 5 แสนบาท เป็นค่าดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดี หลังจากรอมติที่ประชุมบอร์ด สภาทนายความได้มีมติเห็นชอบให้มีการตรวจสอบทนายตั้มตามที่นายอัจฉริยะ ยื่นหนังสือร้องเรียนมา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561
โดยนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 23 คน เห็นว่าข้อร้องเรียนนั้นมีมูลจึงจะให้สอบมรรยาททนายความตามขั้นตอน โดยในตอนนี้มีการทำหนังสือแจ้ง ให้นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ ทราบภายใน 7 วัน และหลังจากประธานกรรมการมรรยาทฯ ได้รับหนังสือ และเอกสารการร้องเรียนแล้ว ก็จะจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรียก ทนายตั้ม เข้ามาชี้แจง และเมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีความเห็น และมติอย่างใดแล้ว หลังจากนั้นภายใน 30 วัน ก็จะต้องส่งผลให้คณะกรรมการบริหารสภาทนายความฯ ชุดใหญ่ พิจารณา และลงมติชี้ขาดเป็นขั้นสุดท้าย โดยบอร์ดบริหารสภาทนายความฯ ชุดใหญ่นี้จะต้องพิจารณาและมีมติภายใน 60 วันหลังจากรับรายงานผลสอบมา
หากพบว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ จะมีโทษด้วยกัน 3 สถาน คือ
1. ภาคฑัณท์
2. พักใบอนุญาตว่าความ 3 ปี
3. ถอนชื่อการประกอบวิชาชีพทนายความจากสภาทนายความ ซึ่งถือเป็นบทลงโทษสูงสุด
โดยกรณีที่ถูกลบชื่อออกจากสารบบจะส่งผลให้ไม่สามารถว่าความได้อีกต่อไป หรือ ถ้าหากจะกลับมาประกอบวิชาชีพก็จะต้องรอ ยื่นสอบจดทะเบียนใหม่ 5 ปี โดยที่ทางกรรมการจะสอบสวนและพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จดทะเบียนใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ทนายความทั่วประเทศไทยมีประมาณ 80,000 คน ทางสภาทนายความจึงต้องมีข้อกำหนดบทบัญญัติข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ เพื่อให้ทนายความมีความพฤติที่ดี ซื่อสัตย์ในหน้าที่ไม่แสวงในอำนาจ ทั้งนี้ทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้รวบรวมประวัติของทนายตั้ม มาให้ได้ทราบกันว่าเขาเริ่มเส้นทางการเป็นทนายความมาได้อย่างไร
นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ที่หลายคนรู้จักดีเป็นทนายหนุ่มฝีมือเยี่ยม ประวัติด้านการศึกษาเกี่ยวกับทนายดีกรีไม่ธรรมดา รัฐศาสตรบัณฑิตนิติศาสตรบัณฑิต , เนติบัณทิตไทย , ปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ก่อนหน้านี้ความฝันของทนายตั้มคือการเป็นตำรวจ จุดหักเหของความฝันหลังจากได้เจอพี่ตำรวจท่านหนึ่งที่ทนายตั้มรู้จัก ได้พูดคุยกันก่อน หลังจากนั้นจึงตัดสินใจจะประกอบอาชีพทนายความเพื่อช่วยเหลือคน และเริ่มเข้าสู่เส้นทางอาชีพทนายความตั้งแต่ปี 2547 หลังจากเรียนจบ มีอุดมการณ์ในการทำงานอยู่ในใจเป็นกลอนที่ท่องไว้ตลอดคือ
นักกฎมายต้องมีใจเสียสละ
มีธรรมในใจอยู่เสมอ
พร้อมต่อสู้กับสิ่งผิดที่ได้เจอ
นั่นละเธอนักกฎหมายที่แท้จริง
โดยอุดมการณ์นี้ได้มาจากพ่อของทนายตั้ม ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของทนายตั้ม จากการที่คุณพ่อเป็นพ่อค้าขายปลาในตลาด สู้ทุกครั้งเมื่อมีใครมากลั่นแกล้ง เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม จนเป็นเหมือนแรงผลักดันให้ทนายตั้ม นั้นมีเลือดนักสู้ ปัจจุบันทนายตั้ม ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม โดยทนายตั้มและทีมงานทนายประชาชนจะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย สอนกฎหมาย ภายใต้โครงการ "ทนายพบประชาชน" และโครงการ "พี่สอนน้อง" โดยจะเดินทางไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องกฎหมายเบื้องต้นรวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของยาเสพติด
ผลงานเด่นที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักทนายตั้ม ในปี 2559 จากการรับทำ คดีตำรวจชุดจับกุมยาเสพติด จำนวน 8 นาย ยัดยาเสพติดให้สองสามีภรรยาชาวแม่กลองพร้อมชิงสร้อยทองและเงิน โดยทนายตั้มได้ทำการเปิดโปงคดีนี้ขุดลึกจนถึงตัวคนทำผิดเป็นถึงนายตำรวจยศพันตำรวจโท ตำรวจยศผู้กอง เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ จนทำให้วงการสีกากีสะเทือน
ต่อมาในปี 2560 จนถึงปัจจุบันกับคดีหวย 30 ล้าน ระหว่าง ร.ต.ท.จรูญ วิมล กับ ครูปรีชา ใคร่ครวญ โดยมีคนแนะนำหมวดจรูญว่าให้ทนายตั้ม มาว่าความให้ในคดีหวย 30 ล้าน จากบุคลิกการเป็นทนายหนุ่มไฟแรง พร้อมท้าทายกับทุกอย่าง โดยที่ผ่านมาทนายตั้ม ได้นำหลักฐานออกมาเปิดเผยเพื่อสู้ความอยู่เสมอ เช่น ภาพการสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ที่อ้างว่าเป็นของเจ้บ้าบิ่น แม่ค้าขายลอตเตอรี่ ที่ระบุว่า "ไม่รู้ว่าใครถูกรางวัลลอตเตอรี่" จากการมาทำคดีนี้ส่งผลให้ทนายตั้มได้รับฉายา "หลัวจือ" หรือ สามีแห่งชาติ จากหลายๆ เพจที่เข้ามาตั้งฉายาให้
จนมาเกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนักหลังรับทำคดียาเสพติดของ "เอมี่ อาเมเรีย จาคอป" จนศาลยกฟ้องข้อหาค้ายา ให้ประกันตัวออกมาได้ ในปี 2561 และกรณีการเรียกเก็บเงินจาก พ่อค้า - แม่ค้ากุ้ง จ.สมุทรสาครจำนวน 5 แสนบาท เป็นค่าดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดีในปีเดียวกัน จนนายอัจฉริยะ ทนไม่ไหวต้องออกมาร้องเรียนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในวิชาชีพและนำชื่อชมรมไปใช้ในทางที่ผิดเพราะมีการตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่มีการรับทำคดีเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด หากทำส่วนตัวได้แต่อย่าเอาชื่อชมรมไปเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามไม่ว่าฝ่ายไหนจะผิดหรือถูกเวลาจะเป็นเครื่องตัดสินทุกอย่างหากทนายตั้มนั้น มีความผิดจริงก็ต้องรับผลแห่งการกระทำ ถ้าหากทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิดของทั้ง 2 ฝ่าย ก็อยากให้ทั้งนายอัจฉริยะ กับ ทนายตั้ม กลับมาจับมือกันช่วยเหลือประชาชนดังเดิม