- 03 ต.ค. 2561
ดุจดั่ง "ทองไม่รู้ร้อน" กับเหล่าประชากร "ลูกหนี้" ใน "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ กยศ. จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง
ดุจดั่ง "ทองไม่รู้ร้อน" กับเหล่าประชากร "ลูกหนี้" ใน "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ กยศ. จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ที่คาบเกี่ยวและส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณด้านการศึกษาในระดับประเทศ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีประชากรบางกลุ่มเจตนาชี้ชัดว่าตั้งใจชักดาบเบี้ยวหนี้ โดยมักยกอ้างความจนหรือความไม่พร้อมจ่าย มาเป็นเกราะกำบัง ผ่านวาทกรรม "หาเช้ากินค่ำ" ที่ถูกนำมาใช้กันอยู่บ่อยครั้ง
นับตั้งแต่ ปี 2539 ที่กองทุนนี้ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา อนึ่งด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยอันสำคัญที่จะนำไปสู่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์รวม ซึ่งผู้กู้จะเริ่มชำระหนี้เมื่อสำเร็จหรือหลังเลิกการศึกษา 2 ปี และต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี จากการสำรวจพบว่าเงินกู้ดังกล่าว มักกระจุกตัวอยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุด
การคัดกรองผู้มีสิทธิ์ในการกู้นั้นโดยหลักจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นการคัดกรองจากคุณภาพของสถาบันการศึกษา โดยจะต้องเปิดการเรียนการสอนมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาต้องรับรู้ถึงการเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องผ่านการรับรองคุณภาพของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และผ่านการประเมินของต้นสังกัด ส่วนที่สองคือการคัดกรองความเหมาะสมและศักยภาพของตัวนักศึกษา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ในอนาคต เบื้องต้นมักใช้เกรดเป็นตัวชี้วัด ซึ่งเกรด 2.00 ก็เพียงพอ ที่จะคาดการณ์ได้ว่านักศึกษาจะสามารถเรียนจบภายในระยะเวลาที่กำหนด
เป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย กว่า 22 ปี ที่กองทุนนี้ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีสถานะเป็น "กองทุนกู้ยืม" จากทุนหมุนเวียนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนถ้วนทั่ว หาใช่องค์กรการกุศลหรือเงินให้เปล่า แต่ปรากฏมีนักเรียนกู้ไปแล้วกว่า 5 ล้านราย เป็นเงินกว่า 570,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการชำระหนี้ประมาณ 65% หรือราว 3.5 ล้านราย ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 19% ราว 8 แสนราย ชำระหนี้ปกติ 39% ราว 1.3 ล้านราย ผิดนัดชำระหนี้ 61% กว่า 2 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระทั้งสิ้นเกือบ 70,000 ล้านบาท
โดยสาเหตุหลักของการค้างชำระหนี้มาจากการขาดวินัยทางการเงิน และขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินหมุนเวียนกยศ.จึงจำต้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ขาดอายุความ ทำการฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่จบการศึกษาอายุ 30 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้านคดี เฉลี่ยปีละ 1 แสนคดี
เนื่องจากทาง กยศ. มีฐานข้อมูลลูกหนี้ในระบบ กระบวนการและขั้นตอนในการทวงหนี้จะเริ่มจากส่งข้อความเอสเอ็มเอสทางโทรศัพท์ ซึ่งหากไม่ได้รับการติดต่อกลับในช่วงเวลาหนึ่งจะโทรศัพท์ไปแจ้งเตือน แต่หากยังไม่มีความเคลื่อนไหวจะมีการส่งหนังสือทางการไปยังที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน และขั้นตอนสุดท้ายคือดำเนินคดี และบังคับคดีตามกฎหมายในที่สุด
ทว่าการแก้ไขปัญหาทำนองนี้อาจไม่เด็ดขาดเพียงพอ เพราะด้วยความ "หัวหมอ" ของลูกหนี้ ที่ทราบดีว่าเป็นคดีแพ่งหาใช่คดีอาญา เลวร้ายที่สุดอาจโดนยึดทรัพย์มิได้ติดคุกติดตารางแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เหล่าลูกหนี้ยังคงถือคติพจน์ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ถึงจะล้มก็ "ล้มบนฟูก"
แต่แล้ว พ.ร.บ. กยศ. ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ มีสาระสำคัญที่ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ เพื่อให้หักเงินเดือนได้ และต้องเเจ้งสถานะลูกหนี้ให้นายจ้างทราบว่ามีหนี้ โดย พ.ร.บ. นี้จะมีผลผูกพันกับผู้กู้เงินเดิมด้วย หลังจากผ่านพ้นช่วงคาบลูกคาบดอก ล่าสุด วันที่ 1 ต.ค. 2561 ทาง กยศ.ได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้กยศ.ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
เบื้องต้นจะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง และในช่วงต้นปีหน้าจะเริ่มทำการหักจากเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนกว่า 8-9 เเสนคน โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดไล่ลงมาตามลำดับ
ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีจากภาพรวมในการชำระหนี้ที่ดีขึ้น ในห้วงปีที่ผ่านมาหลัง มี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ปรากฏว่ามีผู้กู้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ กยศ.เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว ทำให้ได้รับเงินคืนกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ต่อไปว่าในปี 2561 จะได้รับเงินกลับมาหมุนเวียนมากว่า 3 หมื่นล้านบาท
เป็นที่น่าสนใจว่าจากการลงดาบของภาครัฐในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เหล่า "ผู้กู้" หรือ "ลูกหนี้" ได้กลับมาตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนได้หรือไม่ และจะฟื้นคืนจิตสำนึกที่หายไปกับเงินหมุนเวียนมหาศาลได้มากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป