- 04 ต.ค. 2561
จากกรณี เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ รับแจ้งเหตุมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต ภายในหอพักแห่งหนึ่ง ชุมชนคุ้มห้วย ถนน อนรรฆนาค เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
จากกรณี เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ รับแจ้งเหตุมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต ภายในหอพักแห่งหนึ่ง ชุมชนคุ้มห้วย ถนน อนรรฆนาค เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยกู้ภัยและแพทย์เข้าตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุเป็นห้องแถวชั้นเดียว ภายในห้องพัก 139/8 พบศพผู้เสียชีวิตเพศหญิงนอนคว่ำหน้าเสียชีวิตอยู่บนที่นอน ทราบชื่อ นางเอมอร โสฟันโต อายุ 33 ปี ชาว จ.มหาสารคาม เป็นพนักงานบัญชีร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า กำลังตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน จากการตรวจสอบบริเวณโดยรอบไม่มีร่องรอยการต่อสู้ เมื่อสอบถามจากผู้พบศพซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ตายเล่าว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ผู้ตายรับประทานหอยดองต่อมามีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง จึงไปพบแพทย์ ก่อนจะเสียชีวิตในวันพุธที่ผ่านมา เบื้องต้นแพทย์ชันสูตรให้สาเหตุว่า อาจเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร และอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง จึงมีอาการท้องเสียตามมาจนร่างกายเกิดสภาวะช็อคจนเสียชีวิตในที่สุด
สำหรับอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่เกิดจาก การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารพิษ ส่วนใหญ่มักพบในเนื้อสัตว์ พืชผักที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมไปถึงอาหารกระป๋อง อาหารทะเล หรืออาหารค้างคืน เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอาการท้องเสีย จนมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิต
โดยส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อมักจะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับ ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้จากสัญญาณของร่ายกายดังต่อไปนี้
1. มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคล้ายกับลำไส้โดนบิดเนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
2. รู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอม พยายามอาเจียนแต่อาการเหล่านี้ก็ยังไม่หายไป
3. ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง จนร่างกายอ่อนเพลีย หรืออาจมีมูกหรือเลือดปน
4. ร่างกายเสียสมดุลจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ปัสสาวะมีสีเข้ม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด
5. บางรายอาจมีไข้หรืออาการปวดศรีษะร่วมด้วย
ในผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงและได้รับเชื้อโรคหรือสารพิษในปริมาณไม่มากมักจะหายได้เองเพราะร่างกายมีระบบขับเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนออกมาพร้อมอุจจาระหรืออาเจียนอยู่แล้ว แต่กรณีที่มีอาการท้องเสียมาก ถ่ายเหลวเกิน 6 ครั้งต่อวัน และมีอาการอื่นแทรกซ้อน ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ เบื้องต้นควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป โดยให้ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่กับน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในฉลากในปริมาณที่เหมาะสม
2. หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้
3. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชม. เช่น ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรง หน้ามืด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการต่อไป ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ยังมีอาหารบางประเภทที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน ได้แก่
1. อาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงแต่งมากเกินไป เพื่อไม่เสี่ยงต่ออาการปวดท้อง ท้องอืดแน่นเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์
2. อาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง แต่หากจำเป็นควรอ่านฉลากสารอาหารและวันหมดอายุก่อนรับประทาน
3. อาหารที่มีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ เช่น ลูกชิ้น ซึ่งหากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ในปริมาณมากไป จะทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ส่งผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผล
4. อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ของหมักดอง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้จะกระทบต่อเด็กในครรภ์โดยตรง
5. อาหารหมักดอง ถ้ารับประทานในปริมาณมากจะส่งผลต่อความดันโลหิตโดยตรง และทำให้มีอาการบวม ร้ายแรงที่สุดอาจส่งผลให้หัวใจวายแบบเฉียบพลัน
สำหรับวิธีป้องกันอาหารเป็นพิษมีดังนี้
1. ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
2. บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และไม่ควรทิ้งวัตถุดิบไว้นอกตู้เย็น เพราะอาจเป็นการเพิ่มเชื้อแบคทีเรีย
3. ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
4. ถ้าร่วมโต๊ะกับผู้อื่นควรใช้ ช้อนกลาง
5. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากสัตว์ไม่พึงประสงค์ เช่น แมลงสาบ แมลงวัน
หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ ย่อมนำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ห่างไกลอาการอาหารเป็นพิษได้อย่างแน่นอน