- 10 ต.ค. 2561
ความยึดติดในรสชาติ ถือเป็นสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเสาะหาอาหาร ซึ่งถูกผูกโยงกับความสุขและความพึงพอใจ
ความยึดติดในรสชาติ ถือเป็นสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเสาะหาอาหาร ซึ่งถูกผูกโยงกับความสุขและความพึงพอใจ แต่ขณะเดียวกันร่างกายก็มีขีดจำกัดในการรับปริมาณสารอาหารในแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับตัวแปรอันหลากหลาย อาทิ กิจกรรมระหว่างวัน หรือ รูปร่าง
จากข้อมูลของกรมสุขภาพเผยว่า ประชากรส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะบริโภค "เกลือ" อย่างน้อยถึงวันละ 9 กรัม ขณะที่ สำนักงานมาตรฐานอาหารประเทศอังกฤษ The Food Agency (FSA) แนะให้ทานเกลือไม่เกินวันละ 6 กรัม เท่านั้น ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า เกลือถือเป็นส่วนประกอบนิยมนำมาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ "เค็ม" อันเป็นส่วนหนึ่งของความ "กลมกล่อม" ในอาหาร
ซึ่งในภาวะปกติหากรับประทานเกลือในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่ถ้าร่างกายได้รับปริมาณเกลือเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ร่างกายต้องรับภาระในการกรองของเสียมากขึ้น โดยภาระดังกล่าวจะตกไปอยู่ที่ "ไต" เมื่อไตทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวจะนำไปสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังต่อไปนี้
1. บวมน้ำ อาการบวมทางกายภาพหาใช่เป็นการบวมจาก "ไขมัน" เสมอไป เพราะการบริโภคเกลือโดยที่ไม่มีการดื่มน้ำบริสุทธิ์ชดเชยเพื่อปรับสมดุล ร่างกายจะกักเก็บน้ำในร่างกายมากขึ้น ในกลุ่มนี้ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมคือ 1 ลิตร ต่อ น้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม
2. ความดันโลหิตสูง เมื่อร่างกายกักเก็บน้ำมากขึ้น ทำให้ระบบร่างกายโดยรวมเสียสมดุล รวมไปถึงระบบหัวใจ เมื่อหัวใจทำงานหนักขึ้น ในระยะยาวอาจทำให้หัวใจวายอย่างเฉียบพลันจนเสียชีวิตในที่สุด โดยมีรายงานว่าในประเทศอังกฤษมีคนเสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า 170,000 คนต่อปี
3. กระดูกพรุน มีผลวิจัยยืนยันว่าการบริโภคเกลือมีความสัมพันธ์กับความแข็งแรงของกระดูกโดยตรง เพราะการบริโภคเกลือมากจนเกินไปจะทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกเสื่อม
4. หอบหืด การบริโภคเกลือมากๆ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ตรงกันข้ามหากบริโภคอย่างพอเหมาะ จะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
5. มะเร็งกระเพาะอาหาร เกลือมีฤทธิ์ในการทำลายผนังกระเพาะอาหารหากบริโภคในปริมาณที่มาก เมื่อกระเพาะเป็นแผลอาจทำให้ติดเชื้อ จนเกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ เกลือ ยังมีส่วนประกอบอยู่ 2 อย่าง คือ "โซเดียม" กับ "คลอไรด์" โดยอาหารที่มีโซเดียม เช่น
1. อาหารจากเนื้อสัตว์ต่างๆ จะมีโซเดียมสูง ส่วนอาหารธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำ ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก เนื้อปลา ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งอาหารสดเหล่านี้ มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2. ผงชูรส เป็นเครื่องปรุงที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่มากถึงร้อยละ 15 มักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นเครื่องปรุงที่มีติดครัวในทุกบ้าน
3. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู (Baking Powder หรือ baking Soda) เช่น แพนเค้ก คุกกี้ ขนมปังขัดสี (ขนมปังขาว) ซึ่งผงฟูที่ใช้ในการทำขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบคาร์บอเนต)
4. น้ำและเครื่องดื่มบางประเภท น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม แต่พบว่าน้ำบาดาลและน้ำประปามีการปนเปื้อนของโซเดียม ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่ มีการเติมสารประกอบของโซเดียม เพราะเป็นเครื่องดื่มของ "นักกีฬา" ที่สูญเสียเหงื่อคราวละมากๆ จึงไม่เหมาะที่จะดื่มอย่างพร่ำเพรื่อ นอกจากนี้ น้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักจะมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) จึงควรดื่มน้ำผลไม้สดเป็นหลัก
5. อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง
อย่างไรก็ตามหากรับประทานเกลือในปริมาณที่พอเหมาะย่อมให้ "ประโยชน์" มากกว่า "โทษ" เช่น ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร เพิ่มสมดุลโซเดียมในร่างกาย และปรับความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งเกลือทะเลยังมีสารไอโอดีน ที่สามารถป้องกันโรคคอหอยพอกได้
จากข้อมูลของสมาคม The British Dietetic Association ได้เผยว่า การพยายามลดการบริโภคเกลือ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ซึ่งการปรับความเคยชินของปุ่มรับรสที่ลิ้นจะใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
1. งดอาหารที่มีรสจัด รสจัดมิได้หมายความว่าเป็นรส "เผ็ด" จากการตีความที่คลาดเคลื่อน แต่เพียงอย่างเดียว โดยรสจัดในที่นี้หมายถึงอาหารที่มีส่วนผสมของเครื่องปรุงมากกว่าปกติ ที่พึงกระทำคือเลือกทานอาหารที่ลดปริมาณเครื่องปรุง เพื่อให้ไตรับภาระน้อยลง
2. ลดใช้เครื่องปรุงที่มีส่วนผสมของเกลือ อาทิ กะปิ ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เหล่านี้ควรใช้ในปริมาณที่พอควร เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความเคยชินของปุ่มรับรสในลิ้น
3. งดทานขนมขบเคี้ยวหรืออาหารขยะ (Junk Food) ในที่นี้หมายถึง อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการต่ำ โดยมากยังพบว่ามีส่วนผสมของเกลือในปริมาณมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย อาจปรับเปลี่ยนประเภทขนม โดยหันมารับประทาน ผลไม้อบแห้งแทน
4. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากอาการประเภทนี้ จะมีส่วนผสมของเกลือมากกว่าปกติ และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอาหารที่ไม่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทาน เน้นรับประทานอาหารคลีน (Clean Food) หรือ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ หรือผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด
สำคัญที่สุดคือการหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยที่สุดปีละครั้ง โดยเฉพาะการตรวจความเสี่ยงที่จะเป็น "โรคไต" ซึ่งโดยปกติจะไม่แสดงอาการทางกายภาพจนกว่าจะเข้าระยะที่ 4 ซึ่งหากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ เชื่อว่าจะทำให้ห่างไกลโรคได้อย่างแน่นอน