- 14 ต.ค. 2561
เคส"ป๋าเต็ด"เป็นอุทาหรณ์ เพจดังแนะวิธีเผชิญเหตุผู้ป่วยโรคหัวใจกำเริบฉุกเฉิน
จากกรณีที่ "ป๋าเต็ด" ยุทธนา บุญอ้อม กูรูวงการเพลงไทยชื่อดัง ถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลสมิติเวชโดยด่วน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และหัวใจเต้นไม่ปกติ
ทั้งนี้แพทย์ได้ทำการผ่าตัดหัวใจโดยทำบอลลูน ฉีดสี ทำขดลวดไว้ในหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 40 นาที และตอนนี้กำลังพักรักษาตัวโดยมีทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิดนั้น
และก่อนหน้านี้เจ้าตัวได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เล่าถึงอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ระบุว่า "เขียนไว้ข้างเตียง Heart Attack เมื่อหัวใจถูกจู่โจมอย่างเฉียบพลัน เกือบไม่ทัน เกือบไม่รอด
เช้าวันนี้หลังจากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็ลงมาชงกาแฟกินอย่างเคย รู้สึกผิดปกติตั้งแต่เดินมาถึงชั้นล่าง แน่นหน้าอก เหงื่อซึมที่แขน แต่ยังไม่เป็นมาก เดินต่อไปที่ครัวเปิดเครื่องชงกาแฟ เริ่มหน้ามืด บ้านหมุน เจ็บหน้าอกมากขึ้น รีบเดินไปนั่งหน้าบ้านรับอากาศ สูดหายใจลึก แต่ไม่ดีขึ้น เจ็บที่หน้าอกมากกว่าเดิม เหมือนจุก แต่จุกที่หน้าอก คว้าโทรศัพท์โทรหาหมอเอี้ยงเพื่อนสวนกุหลาบ เล่าอาการให้ฟัง เอี้ยงบอกไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อาจมีอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ
วางสาย ตะโกนเรียกภรรยาให้พาไปหาหมอ อาการหนักขึ้น เหงื่อท่วม เดินโซเซขึ้นรถ หน้ามืด มองแทบไม่เห็นทาง ภรรยาออกรถ หยิบยาดมใส่มือ บึ่งไปสมิติเวช เพราะไม่ไกลเกินเอื้อม และมีประวัติที่นั่นแล้ว ถึงโรงพยาบาล นั่งรถเข็นไปแผนกหัวใจ ขึ้นเตียงวัดคลื่นหัวใจ จากที่พยาบาลนั่งกันชิลๆ เพราะเป็นวันหยุดยาว เคสเราทำให้บรรยากาศเปลี่ยน คนเข้ามาเต็มห้อง เครื่องมือเต็มตัว สายไฟโยงยาง ทุกสายตาจ้องจอ เมื่อค่าตัวเลขอะไรสักอย่างชี้ไปในทางเดียวกัน ห้องยิ่งวุ่นวายโหวกเหวก จองห้องผ่าตัด เรียกหมอมาเพิ่ม เอาเอกสารให้ภรรยาและผมเซ็นต์
เตียงถูกเข็นอย่างกะรถเมล์สาย8 เข้าลิฟต์มาโผล่ห้องผ่าตัด ระหว่างทางได้แต่มองเพดานเคลื่อนผ่านไปแบบงงงง หน้าแปลกๆทะยอยโผล่มาข้างเตียงพร้อมคำถามซ้ำๆ มีโรคประจำตัวอะไร ทานยาอะไร เลือดออกที่ไหน รู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในซีรี่ยส์ ERน้ำเน่า ที่เคยติดงอมแงม
ถึงห้องผ่าตัด ดูอุปกรณ์ไม่เยอะเหมือนในหนัง ทุกคนวุ่นวาย ถามมากมายกว่าเดิม จนเราต้องถามกลับไปบ้างว่ากำลังจะทำอะไร จับใจความได้ว่า จะเจาะท่อสอดเข้าเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาขวา พ่นสี ถ้าเห็นท่าไม่ดีจะบอลลูนเลย พยาบาลขอโกนขนที่ต้นขาขวาและซีกขวาของไอ้นั่น ตอบโอเคไปทั้งที่ยังสงสัยว่าไหนๆจะโกนแล้วไม่โกนทั้งสองซีกไปเลย จะเหลืออีกซีกไว้ให้มันเป็นลูกครึ่งอย่างนั้นอยู่ทำไม วุ่นวาย จอแจ ไม่มีช่องว่างให้ท้วงเรื่องซีกที่เหลืออยู่ ต้องปล่อยเลยตามเลย หมอหนุ่มจับต้นขา จะฉีดยาชา เจ็บนิดนะ ไม่ทันได้อนุญาตเข็มก็จิ้ม สรุปไม่ได้ใช้ยาสลบ เราจะรับรู้ทุกขั้นตอนของการฉีดสี และทำบอลลูน
รู้สึกแน่นที่ต้นขา เหมือนมีตัวอะไรพยายามจะมุดเข้าไปในช่องเล็กเท่ารูเข็ม มองไม่เห็น แต่รู้สึกได้ตลอด อึดอัด เจ็บ แต่ไม่นาน ก็หาย หมอคุยกันวุ่นวาย ศัพท์เทคนิคปลิวว่อน ไม่นานทุกอย่างก็คลี่คลาย เหลือแต่ขดลวดไว้ในหลอดเลือดของหัวใจ ย้ายมานอน ICU หายเจ็บอก แต่ห้ามงอขาข้างที่โดนเจาะไปอีกแปดชั่วโมง
นอนอีกสองสามคืนก็กลับบ้านได้ สรุปตั้งแต่เริ่มเจ็บอกจนถึงตอนเริ่มผ่าตัด ใช้เวลาแค่ สี่สิบกว่านาที หมอบอกว่าเร็วมาก โชคดีที่มาเร็ว ถ้ามาช้ามีโอกาสไม่รอดสูง ความรู้สึกตอนนี้ไม่เหมือนคนเฉียดความตายเลย รู้สึกเหมือนคนโชคดีมากกว่า และจะโชคดีกว่านี้มาก ถ้าพรุ่งนี้ คุณหมอจะอนุญาตให้ดื่มกาแฟ"
ซึ่งอาการข้างต้นที่ทาง "ป๋าเต็ด" ยุทธนา บุญอ้อม ได้เล่ามาอย่างละเอียดนั้น ทำให้แฟนคลับหลายคนต่างตื่นตัวกับอาการดังกล่าว และหลายคนต่างตั้งคำถามว่า จะมีวิธีการสังเกต หรือรับมืออย่างไร หากเกิดสภาวะเสี่ยงตายแบบนี้
และล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้อธิบายเพิ่มเติม ถึงการรับมือ และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่มีอาการฉุกเฉินเรื่องโรคหัวใจ ระบุว่า "มีคนถามเรื่องการปฐมพยาบาลว่าถ้ามีคนในครอบครัว มีอาการแบบป๋าควรทำไงมั่ง อย่างแรกโทร 1669 จากนั้นให้คนไข้นอนนิ่งๆ อย่าให้ออกแรง ไม่งั้นจะเหนื่อย แน่นหน้าอกมากขึ้น ไม่ต้องให้กินอะไรทั้งนั้น เตรียมไว้เผื่อต้องผ่าตัด
(แต่ถ้ามียาอมใต้ลิ้นของเดิมอยู่แล้วก็ให้อมได้ตามสะดวก) จากนั้นก็รอรถพยาบาลมารับ ระหว่างนั้นถ้าคนไข้หมดสติไม่รู้ตัว และหายใจผิดปกติหรือไม่หายใจ เริ่ม CPR ไปเลยจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง ไอ้ที่มันแชร์ๆกันว่าให้คนไข้ ไอแรงๆ จะเหมือนนวดหัวใจนั่น ห้ามทำ เพราะไม่ช่วยอะไรและจะทำให้คนไข้เหนื่อยแน่นหน้าอกมากขึ้น"
โดยมีชาวโซเชียลหลายคนเข้ามาแชร์ประสบการณ์ ทั้งที่เคยป่วยเป็นโรคนี้ และมีญาติป่วย หลายคนมองว่าเรื่องแบบนี้ต้องศึกษาหาความรู้เอาไว้กันทุกคน เพื่อสามารถช่วยเหลือคนในครอบครัว และผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที และยาอมใต้ลิ้น ผู้ที่ต้องใช้ยานี้ควรพกติดตัวตลอดเวลา อย่าไว้ให้ห่าง จะได้ช่วยเหลือได้ทันเช่นกัน
วิธีเผชิญเหตุเบื้องต้น
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Yuthana Boonorm , Drama-addict