- 14 ต.ค. 2561
เรียกว่าเป็นข่าวดีให้กับผู้ถือสิทธิประกันสังคมได้เฮกันอีกครั้ง หลัง นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ออกมาเผย พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน
เรียกว่าเป็นข่าวดีให้กับผู้ถือสิทธิประกันสังคมได้เฮกันอีกครั้ง หลัง นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ออกมาเผย พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป กรณีการขยายเพิ่มอัตราค่าทดแทนจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนในการใช้สิทธิประกันสังคมของลูกจ้าง
โดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับใหม่) นี้ได้มีการปรับปรุงค่ารักษาและขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานโดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นและนายจ้างได้รับความเป็นธรรม
ทั้งนี้ นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีสาระ สำคัญ คือ ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ขยายความคุ้มครอง ให้ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างซึ่งทำงานในองค์กรของนายจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการออกกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับขอบเขตการคุ้มครองลูกจ้างซึ่งได้รับการจ้างงานในประเทศ (Local staff) ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "ภัยพิบัติ" เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายหรือลักษณะของภัยพิบัติ ลดการจ่ายเงินเพิ่มตามกฎหมายในท้องที่ประสบภัยพิบัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย
โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ ดังนี้
1. เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน
2. เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี (เดิมไม่เกิน 15 ปี)
3. เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ถึงแก่ความตายหรือสูญหายมีกำหนด 10 ปี (เดิมกำหนด 8 ปี)
อีกทั้งกำหนดการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานได้ให้ได้รับเงินทดแทนตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเดิมจะจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกิน 3 วัน เพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง ตามอัตราที่กำหนด ในกฎกระทรวง ซึ่งเดิมจะจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ในส่วนของนายจ้างก็จะได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนนี้เช่นกัน กล่าวคือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (ฉบับใหม่นี้) ได้มีการปรับลดเงินเพิ่มตามกฎหมายจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดเกณฑ์ การคำนวณเงินเพิ่ม กรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ โดยกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนดเพดานเงินเพิ่มไว้
ซึ่งนายอนันต์ชัย ยังกล่าวเสริมว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ฉบับใหม่นี้ ยังจะส่งผลให้ลูกจ้างมีหลักประกันของชีวิตดีขึ้น รวมถึงค่าทดแทนการขาดรายได้ และระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในกรณีไม่สามารถทำงานได้ มีความจำเป็นต้องหยุดงาน และในส่วนของนายจ้างเองก็จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราเงินเพิ่ม ส่งผลให้สถานภาพด้านการเงินของนายจ้าง มีความมั่นคง เสริมสร้างสังคมประเทศชาติให้มีเสถียรภาพเป็นปึกแผ่น มีความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับเงินทดแทนสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01 )
2. ใบรับรองแพทย์
3. หนังสือรับรองจากนายจ้าง
4. สำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ
6. หลักฐานอื่น ๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ–เลขที่บัญชี ธนาคาร
หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง สามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
นอกจากการขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์อัตราค่าทดแทนเพิ่มจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 แล้ว ทางสำนักงานประกันสังคมยังได้เพิ่มสิทธิให้คนท้องได้ยิ้มออกด้วยการประกาศเพิ่มเงินช่วยค่าตรวจและฝากครรภ์ จำนวน 1,000 บาท ให้แก่ผู้ประกันตน ที่ตั้งครรภ์ นอกเหนือจากการจ่ายค่าเหมาคลอดบุตรครั้งละ 13,000 บาท / การคลอด โดยเงินช่วย 1,000 นี้จะแบ่งออกได้ดังนี้
ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 500 บาท
ครั้งที่ 2 อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300 บาท
ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 21-28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 200 บาท
ส่วนในกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์และบุตรเสียชีวิตก่อน 28 สัปดาห์ ยังได้รับสิทธิบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในรายการสำหรับการส่งเสริมสุขภาพหญิงผู้ตั้งครรภ์ นอกจากนั้นผู้ประกันตนยังสามารถเบิกค่าหยุดงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน และสามารถเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดใช้ไปตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บประกันสังคม