- 22 ต.ค. 2561
ด้วยคล้ายว่าเป็น "สับเซต" ของ "การเมืองภาคประชาชน" กับกลุ่มนักศึกษาผู้สถาปนาตนเป็นพหูสูตรในคราบของนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว ผู้ฝักใฝ่ในความเป็น "เสรีนิยม" อย่างสุดกู่
ด้วยคล้ายว่าเป็น "สับเซต" ของ "การเมืองภาคประชาชน" กับกลุ่มนักศึกษาผู้สถาปนาตนเป็นพหูสูตรในคราบของนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว ผู้ฝักใฝ่ในความเป็น "เสรีนิยม" อย่างสุดกู่ ท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเส้นทางการเมือง ที่ดูจะทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่านับตั้งแต่ ตุลาฯมหาปิติ บทบาทของนักศึกษาในการแสดงออกถึงความเป็น "ปัญญาชน" ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับประตูแห่งเสรีภาพวิชาการเชิงประวัติศาสตร์ได้เปิดกว้างให้ได้ศึกษาอย่างไม่รู้จบ
หากกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน กลับก่อให้เกิดเป็นอุดมการณ์เลื่อนลอย พวกเขาเหล่านักศึกษายังคงเลือกที่จะสมาทานการเมืองในอุดมคติ อย่างไร้ซึ่งเหตุและผลที่จับต้องได้ เพราะหากพิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างเป็นพลวัต จะพบว่าในปัจจุบันโครงสร้างของประเทศมีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น การเมือง สังคม เศรษฐกิจ หาได้เป็นเอกเทศ จากการพยายามทำความเข้าใจต่อปัญหาระดับองค์รวมของชาติที่เป็นไปอย่างตื้นเขินของนักศึกษาบางกลุ่ม ส่งผลให้พวกเขาทำการ "เลือกข้าง" โดยไม่แยกแยะ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนกลุ่มการเมืองใดอย่าง "สุดโต่ง"
กว่า 86 ปี ที่กระแสประชาธิปไตยแบบสากล ไม่เคยเป็นรูปร่าง คงจะมีเพียงแต่การพยายามฉุดรั้งประเทศให้กลับสู่วังวนของรัฐทหารด้วยพลังของราชาชาตินิยม จากการรัฐประหารที่สำเร็จถึง 13 ครั้ง เฉลี่ยคือ 6 ปีครึ่งต่อ 1 ครั้ง เพียงพอที่จะทำให้ลิเบอรัลเสื้อขาวผู้ไม่ประสาหลายคน เกิดความเอือมระอาจนเบือนหน้านี้
เช่นเดียวกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาสิงห์แดง คณะรัฐศาสตร์แห่งประตูแดงกำแพงเหลือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาหลายชั่วอายุ เด็กหนุ่มผู้นี้มีทรรศนะต่อการเมืองไทยว่าเป็นสิ่งที่ "ล้าหลัง" พร้อมประกาศกร้าวว่าตนคือคนยุค "มิลเลนเนียล" ด้วยสำคัญตนว่าผ่านร้อนผ่านหนาวจากความขัดแย้งของการเมืองไทย ทั้งม้อบเสื้อแดง และกลุ่มชุมนุมมวลมหาประชาชน กปปส.
เพนกวิน เกิดในปี 2541 อายุ 20 ปี สัมผัสบรรยากาศการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือ ปี 2549 และ 2557 แต่พฤติกรรมที่ปรากฏคล้ายว่า คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองอย่างแตกฉาน การแสดงออกของเขานั้น ถึงแม้จะไม่มีทีท่าว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงที่ชัดเจนนัก แต่ผ่านมุมมองของรัฐบาลแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ครั้งหนึ่งเพนกวินเคยเคลื่อนไหวพร้อมแนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากการดำเนินกิจกรรม "ซ้อมอดอยากรอเลือกตั้ง" ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ด้วยการยืนกินมาม่าเป็นการสะท้อนโดยนัยว่า เป็นการปรับตัวตามเศรษฐกิจ (ที่ดิ่งลงเหว) ในทรรศนะของพวกเขา
ภายหลังจบกิจกรรม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัว เพนกวิน พร้อมพลพรรคผู้เห็นพ้องต้องกัน ไปยัง สน.ปทุมวัน เพื่อลงบันทึกประจำวัน ซึ่งทางลิเบอรัลผู้นี้ก็ยังคง "ดื้อแพ่ง" ด้วยการโพสต์บนเฟซบุ๊กเพื่อหาแนวร่วมต่อไปโดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนัดมาสอบถามรายละเอียดเพื่อลงบันทึกประจำวัน จึงให้ลงไปว่า "มายืนกินมาม่าสองคน" จะโดนฟ้องหรือไม่รอรับชมตอนต่อไป
กับอีกครั้งหนึ่งในวันแรงงาน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ภายหลังกล่าวสุนทรพจน์ และเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพนกวินที่ได้แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเต๊นท์จัดงาน ได้ปรากฏตัวและก้มกราบเท้านายกนายกรัฐมนตรี โดยแต่งกายด้วยหมวกสีเหลือง เสื้อสีน้ำเงิน เพื่อความกลมกลืน จนกลายเป็นความชุลมุนขึ้นมา จากการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้คุมตัวเพนกวินเชิญไปพูดคุยเพื่อ "ปรับทัศนคติ" ต่อไป
และอีกหนุ่มนิสิตสิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คล้ายจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาล จนลามปามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด กับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อน่ารักน่าเอ็นดูอย่าง "เนเน่" ผู้แสดงออกอย่างชัดเจนในการต่อต้านแนวคิดแบบ "รอยัลลิสต์" ที่มีความเชื่อโดยหลักว่า ความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ พฤติกรรมอันหลากหลายของเขานั้นคล้ายจะมีความเป็น "หัวขบถ" อยู่ในที
นับตั้งแต่การแสดงออกถึงอาการแข็งข้อ ฉีกขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยอมรับโดยคนหมู่มาก ด้วยวิธีอารยะขัดขืน จากการเดินวอล์กเอาต์กลางงานถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ปี 2560 ที่ต้อง "หมอบกราบ" พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเนติวิทย์ยกอ้างเหตุผลว่า ไม่เป็นไปตามที่ตกลง ในเมื่อรัชกาลที่ 5 ต้องการให้ประเทศทันสมัยทัดเทียมอารยะธรรมชาติตะวันตก เหตุใดจึงต้องสร้างความศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่ใช่ลักษณะของสังคมแห่งปัญญา จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เนติวิทย์ ถูกตัดคะแนนความประพฤติของนักศึกษา ทำให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ต่อมาในช่วงต้นปี 2561 เนติวิทย์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประท้วงต่อต้าน คสช. ที่จัดโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย วันที่ 29 มกราคม คสช. ฟ้องเขาและนักกิจกรรมอีก 6 คนว่าเป็นผู้นำการประท้วง และกล่าวหาว่าเขาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อมา ศาลปล่อยตัวเขากับนักเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข
ด้วยแนวคิดอันสุดโต่งของเนติวิทย์ ได้ลุกลามไปกระทบต่อความมั่นคงของกองทัพ เพราะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. เนติวิทย์เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาเมื่อเวลา 17.40 น. เนติวิทย์ร่วมเคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังกองบัญชาการกองทัพบก
จนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตยื่นฟ้องเนติวิทย์และผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวรวม 57 คน ซึ่งเรียกว่า ARMY57 ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยศาลแขวงดุสิตได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดี เนติวิทย์และผู้ชุมนุมได้รับการปล่อยตัว โดยศาลให้เนติวิทย์และผู้ชุมนุมทุกคนสาบานตน พร้อมทั้งนัดตรวจหลักฐานและสอบคำให้การในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 9.00 น.
ทั้ง เนติวิทย์ และเพนกวิน อาจเป็นเพียงแบบฉบับของ "ปัญญาชน" ผู้มีอุดมการณ์อันแรงกล้า แต่มองข้ามบริบทและความเหมาะสมของสภาพการเมืองไทย เพราะการแสดงออกใดๆ ล้วนแต่ควรอยู่ในขอบเขต เพราะบางครั้งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพื่อตนเอง ในอีกมุมอาจเป็นการคุกคามผู้อื่นจนเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่บานปลายก็เป็นได้