- 24 ต.ค. 2561
กำลังจะกลับมาอีกครั้งในปี 2562 กับ สภาพอากาศสุดขั้วในประเทศไทย เมื่อ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำการแจ้งเตือนถึงปัญหาที่เหล่าเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ
กำลังจะกลับมาอีกครั้งในปี 2562 กับ สภาพอากาศสุดขั้วในประเทศไทย เมื่อ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำการแจ้งเตือนถึงปัญหาที่เหล่าเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ จากกรณีเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2561 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้น้ำในเขื่อนใหญ่มีปริมาณไม่ถึง 50% ของความจุอ่าง
ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำที่จำเป็นต่อการใช้เพื่อ อุปโภค บริโภค รวมถึงการทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยถึงข้อมูลการสำรวจระดับน้ำเขื่อนที่พบปัญหามีปริมาณน้ำน้อยกว่าความจุ ประกอบไปด้วย
1. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำในอ่าง 115 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 44% ของความจุอ่างฯ เพียงพอที่จะสนับสนุนการปลูกพืช รวม 3.9 หมื่นไร่จากทั้งสิ้น 1.7 แสนไร่
2. เขื่อนแม่มอก ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 35 ล้านลบ.ม. หรือ 32% ของความจุอ่างฯ
3. เขื่อนมูลบน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 76 ล้านลบ.ม. หรือ 54% ของความจุอ่างฯ
4. เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 823 ล้านลบ.ม. หรือ 34% ของความจุอ่างฯ
5. เขื่อนกระเสียว ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 101 ล้านลบ.ม. หรือ 34% ไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกได้
6. เขื่อนห้วยหลวง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 66 ล้าน ลบ.ม. หรือ 48% ของความจุ
7. เขื่อนทับเสลา อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. หรือ 30% ของความจุอ่าง
8. เขื่อนลำนางรอง ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 41 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34% สามารถสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้เท่านั้น
จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ต้องการใช้น้ำจำนวนมาก ส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนที่น้ำเข้าไม่ถึงควรมีการวางแผนเสียแต่เนิ่นๆ ว่า จะใช้ทรัพยากรน้ำในเขื่อนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ อุตสาหกรรม รวมถึงเกษตรกรรม ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดอย่างไร
ทางด้าน กระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา ในวันที่ 25 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ได้แจ้งเตือนประชาชนว่าขอให้วางแผนก่อนลงทุนเพาะปลูก โดยสิ่งที่น่ากังวล คือ ฤดูแล้งปี ช่วงเม.ย.-1 พ.ค. 2562 หากฝนน้อยน้ำในเขื่อนมีไม่มากพอ ฤดูแล้งปีต่อไป จะลำบาก ซึ่งที่ผ่านมาสภาพภูมิอากาศของไทยจะเป็นฝนปกติ 2 ปี สลับกับแล้งต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งปี 2560-61 ฝนปกติแล้ว ดังนั้นต้องรอดูปี 2562 จะแล้งหรือไม่และต้องหาทางรับมือกัน
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคตะวันออกคาดว่าปริมาณน้ำเพียงพอ โดยระหว่างนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร อยู่ระหว่างเร่งทำฝนหลวงน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งมีปริมาณน้อยให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50-60% และให้หน่วยประเมินความต้องการใช้น้ำ ประเมินปริมาณใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้ชัด เนื่องจากไม่อยากให้เกษตรกรลงทุนไปก่อนและมาปรับแก้ตอนหลัง
สำหรับสภาพอากาศประจำวัน วันที่ 24 ต.ค. มีแนวโน้มว่าประเทศไทยอาจยังต้องเจอฝนตกยาวติดต่อกันทั้งสัปดาห์ จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ ในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า แจ้งว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตก และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้
ภาคเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.ภาคเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.