- 24 ต.ค. 2561
เมื่อเวียนเข้าสู่ 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษาตามหมายกำหนดของพระพุทธศาสนา ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ "บั้งไฟพญานาค" ก็กำลังจะอุบัติขึ้นอีกครั้ง
เมื่อเวียนเข้าสู่ 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษาตามหมายกำหนดของพระพุทธศาสนา ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ "บั้งไฟพญานาค" ก็กำลังจะอุบัติขึ้นอีกครั้ง ทำให้ประชาชนมากหน้าหลายตาต่างให้ความสนใจกันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีรายงานว่าในช่วงเช้าของวันที่ 24 ต.ค. 2561 มีประชาชนและนักท่องเที่ยวพากันมาจับจองพื้นที่ริมแม่น้ำโขงตั้งแต่เช้า และได้มีการเตรียมประกอบพิธีบวงสรวงบูชาพญานาคที่จะเริ่มขึ้นเย็นนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมเครื่องบวงสรวงกองฮ่างไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยไฮไลท์ของงานคือจะมีนางเอกชื่อดัง "ญาญ่า อุรัสยา" จากภาพยนตร์นาคี 2 มาร่วมรำบวงสรวงบูชาพญานาคชุด "รำนาคาศรัทธา" จากนั้นก็จะเข้าสู่การเฝ้ารอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จะผุดขึ้นจากกลางลำน้ำโขงเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมาต่อไป
บั้งไฟพญานาค หรือ บั้งไฟผี เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขง เห็นได้จากทั้งฝั่งไทยและลาว มีลักษณะเป็นลูกไฟกลมเรืองแสงขนาดเท่าหัวแม่มือไปจนถึงผลส้ม พวยพุ่งขึ้นไปในอากาศโดยจะเกิดขึ้นในช่วงออกพรรษา สีที่พบส่วนมากจะออกแดงอมชมพู ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น โดยจะพุ่งขึ้นไปได้สูงถึง 50-150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5-10 วินาที ก่อนที่จะสลายไปในอากาศ
นาค หรือ พญานาค เป็นสัตว์ในความเชื่อ ของพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา โดยเป็นงูขนาดใหญ่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ เรื่องของพญานาคในทางพุทธศาสนาระบุว่า เดิมทีพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลนั้นมีความเป็นมิจฉาทิฐิเป็นที่ตั้ง แต่พอพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดก็เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา
มีความคิดที่จะออกบวชอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ หากแต่มีชาติกำเนิดเป็น "สัตว์" จึงไม่สามารถเข้ารับการอุปสมบทเฉกเช่นมนุษย์ได้ ทำได้เพียงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ 1 พรรษา (3 เดือน) และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 11 ด้วยบันไดแก้ว บันไดเงินและบันไดทอง ที่เหล่าเทวดาทำถวาย ส่วนมนุษย์โลกก็จะทำบุญตักบาตร นำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้บูชา
พญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลแม่น้ำโขง จึงได้พ่นลูกไฟออกมาเป็นบั้งไฟพญานาค เพื่อประหนึ่งเป็นการถวายแด่พระพุทธเจ้า อันตำนานที่น่าฉงนสนเท่ห์ และสืบทอดมาเป็นประเพณีจวบจนถึงทุกวันนี้
ส่วนทฤษฎีหรือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยบั้งไฟพญานาคนั้นมีอยู่หลากหลาย เช่น น.พ.มนัส กนกศิลป์ แห่งโรงพยาบาลหนองคาย วิจัยเมื่อปี 2536-2541 อธิบายว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่อก๊าซร้อนคือก๊าซที่มีส่วนผสมของก๊าซมีเทนและก๊าซไนโตรเจน ระเบิดจากอินทรียวัตถุใต้ท้องน้ำหรือในดินที่เปียก โดยมีแบคทีเรียกลุ่มมีเทนฟอร์มเมอร์ซึ่งดำรงชีวิตได้ในสภาพไร้ออกซิเจน ณ ความลึกของแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำข้างเคียง เป็นตัวช่วยผลิตก๊าซ
ความเป็นกรดและด่างของน้ำในแม่น้ำโขง ก็สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ที่จะเกิดการหมักก๊าซมีเทน หลังจากนั้นจะได้ก๊าชมีเทนในปริมาณมากพอที่จะก่อให้เกิดความดันก๊าชในผิวทรายอย่างน้อย 1.45 เท่าของความดันบรรยากาศ
เมื่อพบกับความกดดันของน้ำ ความกดดันของอากาศในตอนพลบค่ำ หล่มทรายจะไม่สามารถรับแรงดันได้ ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ และมีการฟุ้งกระจายไปบางส่วน เหลือแกนในของก๊าซซึ่งลอยตัวขึ้นสูง
เมื่อกระทบกับอนุภาพออกซิเจนอะตอมที่มีประจุ มีพลังงานสูง จะเกิดการสันดาปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นดวงไฟหลายสี แต่ร้อยละ 95 จะเป็นดวงไฟสีแดงอำพัน พุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วหายไป และทุกตำแหน่งที่เกิดบั้งไฟพญานาคจะอยู่ในระดับ 5-13 เมตรทั้งสิ้น
ส่วนเหตุผลที่ว่าปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคถเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันออกพรรษา น.พ.มนัส ให้เหตุผลว่าคืนดังกล่าวจะมีออกซิเจน ก๊าซที่ช่วยให้ติดไฟสูงสุดในรอบปี อันเกิดจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงพลังงานรังสีของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และโลก ในอีกมุมหนึ่งปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนามากขึ้น อย่างไรแล้ว "ศรัทธา" หรือ "ความเชื่อ" หากอยู่ในขอบเขตของความพอดีโดยที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็ถือเป็นสิ่งที่ทรงเสน่ห์ประหนึ่งสีสันของโลกใบนี้ เช่นเดียวกับ "บั้งไฟพญานาค"