- 26 ต.ค. 2561
ผ่านพ้น 15 ค่ำเดือน 11 อันเป็นหมายกำหนดของ "วันออกพรรษา" ตามพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางเพจเฟซบุ๊ก ลูกศิษย์พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้โพสต์ข้อความระบุว่า วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 วันนี้เป็นวันออกพรรษา
ผ่านพ้น 15 ค่ำเดือน 11 อันเป็นหมายกำหนดของ "วันออกพรรษา" ตามพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทางเพจเฟซบุ๊ก ลูกศิษย์พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้โพสต์ข้อความระบุว่า วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561 วันนี้เป็นวันออกพรรษา และเป็นวันที่พระครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสํวโร ออกกรรมฐาน
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาพระครูบาพ่อบุญชุ่มได้ปวารณาปฏิบัติพระกรรมฐานในถ้ำ 3 เดือน ดังพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ละทางโลกปลีกวิเวกเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น ด้วยวิธีปฏิบัติตนตามแนวทางพระป่าอรัญวาสี โดยการปิดวาจา ไม่พูด ไม่พบเจอผู้ใด ตลอดพรรษา
ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ต.ค. คณะศิษย์ได้เข้ากราบนมัสการนิมนต์พระครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสํวโร ออกจากกรรมฐาน และออกจากถ้ำ ณ เมืองแกส รัฐฉาน เพื่อโปรดคณะศิษย์และคณะศรัทธา โดยพระครูบาฯ ได้แสดง ธรรมะเพื่อเป็นธรรมทานแก่คณะศิษย์
พระครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสํวโร ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนต่างให้ความศรัทธา และเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากกรณีเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ที่ได้เมตตาทำพิธีกรรมทางศาสนาเปิดทางเพื่อช่วยเหลือนักฟุตบอลทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมเผยว่าอีกไม่นานจะออกมาจากถ้ำอย่างแน่นอน เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และญาติของผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก
พระครูบาพ่อบุญชุ่ม ญาณสํวโร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 ม.ค. 2508 ใน ม.แม่คำหนองบัว ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ชีวิตในวัยเยาว์หาได้เหมือนเด็กคนอื่น เพราะมีปณิธานตั้งมั่นว่าจะรับใช้พระพุทธศาสนาเนื่องจากชีวิตมีความลำบากยากเข็นครอบครัวยากจนทำให้มองโลกผ่านความเป็นไตรลักษณ์ จึงตัดสินใจบวชเรียน เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2519 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 ณ วัดศรีบุญยืน ต.ศรีดอนมูล (ป่าถ่อน) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีพระครูหิรัญเขตคณารักษ์ วัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน เป็นพระอุปัชฌาย์
เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่บวชเป็นสามเณรได้สร้างธรรมนุสรณ์จากการอนุโมทนาบุญของพุทธศาสนิกชนหลายแห่ง เช่น สร้างพระธาตุดอยเวียงแก้ว ที่วัดพระธาตุดอยวังแก้ว และได้ปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด และเรื่องราวที่น่าแปลกใจยิ่งคือสามเณรที่บวชรวมกันทั้งตำบลพร้อมพระครูฯมีทั้งหมด 32 รูป แต่ลาสิกขาเหลือพระครูบาฯ เพียงรูปเดียว
กระทั่ง พ.ศ.2529 หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุ ได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ประเทศเนปาล จึงมีโอกาสได้พบพุทธศาสนิกชนต่างแดน ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างขัดสน และมีวิถีชีวิตแปลกๆ พระครูบาฯจึงโปรดแผ่เมตตาพร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติธรรมตามหนทางแห่งพุทธเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวต่อไป
หลังจากโปรดสัตว์และศึกษาธรรมในต่างแดนพอสมควรแล้ว เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2548 พระครูบาฯ จึงเดินทางกลับประเทศไทย และเมตตาให้ศิษยานุศิษย์ชาวไทยเข้ากราบนมัสการ จนเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2548 พระครูบาฯ ได้เดินทางไปยังเมืองเฉินตู ประเทศจีนและทิเบตเพื่อศึกษาธรรมต่อไป
ทั้งนี้ พระครูบาฯ เคยมาธุดงค์อยู่ที่ถ้ำผาไทย อ.งาว จ.ลำปาง โดยมีศรัทธาชาวบ้านแวะเวียนมากราบไหว้ และมีชาวบ้านเคยเรียนท่านว่า มีอีกถ้ำหนึ่งมีน้ำไหลผ่าน ท่านจึงเสาะหาจนเจอถ้ำราชคฤห์และได้บำเพ็ญเพียร เปิดโอกาสให้สาธุชนเข้ากราบไหว้อยู่ที่ถ้ำราชคฤห์มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
ด้วยเหตุนี้พระครูบาบุญชุ่ม จึงเป็นแบบอย่างของพระผู้ยึดมั่นคำสอนของพระพุทธเจ้าจนป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทยในแถบภาคเหนือ ประเทศลาว ประเทศพม่า รวมไปถึงสมาชิกพระราชวงศ์ภูฏานด้วย