- 26 ต.ค. 2561
ยาวๆ ไปพี่น้อง! "ท่อร้อยสายใต้ดินฉาว" บานปลาย คำร้องถึงมือ "สคร." แล้ว สั่งบิ๊กทีโอทีแจงด่วนภายใน 26 ต.ค.
กลายเป็นประเด็นที่มีการขยายความต่อเนื่อง ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ เสียแล้ว สำหรับข้อร้องเรียนเรื่อง "การจัดหาโดยวิธีพิเศษเพื่อจ้างเหมาก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนราชวิถี... เส้นทางถนนราชวิถี ชุมสายโทรศัพท์ สวทช.ที่ซ้ำซ้อน ล่าช้าและทำให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.ทีโอที"
ตามการรายงานของ "สนข.ทีนิวส์" มาเป็นลำดับก่อนหน้านี้ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา พนักงานบมจ.ทีโอที ได้ตัดสินใจทำหนังสืออีกหนึ่งฉบับถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประเด็นสำคัญ เรื่อง ขอให้ทหารทำการเปิดท่อเพื่อสำรวจท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ถนนราชวิถี เพื่อให้เกิดกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยเร็ว
ล่าสุด "สนข.ทีนิวส์" ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเป็นไทม์ไลน์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมเอกสารเป็นหลักฐานประกอบ เริ่มจากรายงานการประชุมเรื่องนำสายโทรศัพท์ลงดิน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทุกฝ่ายรับรู้เรื่องการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ผู้บริหาร บมจ.ทีโอที ก็ยังดื้อจะดำเนินงานในลักษณะของการทำงานซ้ำซ้อน
โดยเฉพาะการปรากฎหนังสือ เลขที่ ทีโอที ฐพ.(ฐ)/114 ลว. ในวันที่ 3 มิ.ย.2559 แสดงเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน โครงการก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนราชวิถี ถึงผู้อำนวยการกองแผนงานและประสานงานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา กทม.
ก่อนในวันที่ 20 ก.ค. 2559 จะมีหนังสืออีกหนึ่งฉบับแจ้งกำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา 3 เดือน หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2559 - 31 ส.ค. 2559 พร้อม ๆ กับการแสดงหนังสือเลขที่ ทีโอที วจท/69 ลงวันที่ 12 ก.ค. แสดงข้อมูลการประมาณราคางานก่อสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน ซึ่งเป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบตอกย้ำให้เชื่อได้ว่าการดำเนินการทุกขั้นตอน ผ่านการอนุมัติดำเนินการจากผู้รับผิดชอบแล้ว ก่อนจะมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบเพื่อพิจารณาหาผู้กระทำผิด ในกรณีทำให้เกิดความเสียหายต่อบมจ.ทีโอที และมีข้อมูลบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่ามีกระบวนการทุจริตเกิดขึ้น
ประเด็นสำคัญ คือ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2561 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ระบุว่าได้มีการส่งข้อมูลถึง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ว่าด้วยเรื่อง ท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดินดังกล่าว มีใจความว่า สคร.ได้รับเรื่องร้องเรียนใน 3 กรณี ประกอบด้วย
1. กรณีการจ้างเหมาก่อสร้างระบบท่อร้อยสายใต้ดิน บมจ.ทีโอที มิได้มีการสำรวจท่อร้อยสายใต้ดิน ที่บมจ.ทีโอที เป็นเจ้าของทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และวางแผนก่อนการดำเนินการลงทุน
2. กรณีท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดินที่ บมจ.ทีโอที ได้รับมาจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ตามสัญญาสัมปทานเป็นเพียงทรัพย์สินบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากทางบมจ.ทีโอทีมิได้ดำเนินการตรวจรับทรัพย์สินให้ครบถ้วนทั้งหมด โดยดำเนินการตรวจรับเฉพาะสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ( Fiber Optic) แต่บมจ.ทีโอที ได้ประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชนว่าได้ตรวจรับท่อร้อยสายใต้ดิน จาก บมจ.เอไอเอส ทั้งหมดแล้ว และที่ผ่านมาผู้บริหาร บมจ.ทีโอทีได้ยับยั้งมิให้มีการสำรวจท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน ทั้งในส่วนของบมจ.ทีโอทีและ บมจ.เอไอเอส มาโดยตลอด จึงแสดงให้เห็นว่ายังคงมีท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน ที่ไม่ได้ตรวจรับเนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่เป็นจำนวนมาก
3. ท่อร้อยสายใต้ดินที่บมจ.ทีโอทีได้รับมาจากบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ตามสัญญาสัมปทาน จนถึงปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการตรวจรับและจัดทำฐานข้อมูลไม่แล้วเสร็จ
โดยทั้งหมดนี้สคร.เห็นว่าข้อร้องเรียนกระทบต่อภาพลักษณ์และการดำเนินงานของบมจ.ทีโอทีอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ สคร.ทราบภายในวันที่ 26 ต.ค. 2561 เพื่อสคร.จะได้ดำเนินการต่อไป