- 31 ต.ค. 2561
"ดอน"เปิดใจ หลังรอดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก นั่งรัฐมนตรีต่อ!
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เสนอ คำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (1)วรรค 5 ว่า ความเป็นรัฐมนตรี ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะหรือไม่ จากเหตุ นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยานายดอน ถือครองหุ้นเกิน 5 เปอร์เซนต์ ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัทปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด
โดยศาลวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ให้ถือเป็นวันเริ่มรับตำแหน่งรัฐมนตรีของนายดอน อีกทั้ง คู่สมรสได้ทำหนังสือใบโอนหุ้น ในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด ให้กับบุตรชายอย่างถูกต้อง ในวันที่ 27 เมษายน 2560 และวันที่ 30 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐมนตรีและคู่สมรสจะต้องไม่ถือครองหุ้นเกิน 5% และจะต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน และจากหลักฐานพบว่า หลังจากโอนหุ้นให้กับบุตรชายแล้ว คู่สมรสของนายดอนได้ถือครองหุ้นแต่ละบริษัทเพียงร้อยละ 4 ซึ่งไม่เกินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
ดังนั้น นายดอน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค (1)วรรค 5 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ไม่ต้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว โดยหลังจากนี้คู่ความสามารถคัดสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ นายดอน กล่าวภายหลังฟังคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น ว่า ขอบคุณคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยในวันนี้ โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีความกังวลและทำงานได้และทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงต่อศาล โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ เพราะยังมีงานที่สำคัญโดยเฉพาะการรับหน้าที่ของประเทศไทยในฐานะ ประธานอาเซียน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้
นายดอน กล่าวต่อว่า ส่วนการจะไปร่วมงานทางการเมืองกับพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้น ยืนยันว่าขณะนี้จะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องตอบคำถามนี้และยังมีงานต้องทำอีกมาก แต่หากมีพรรคการเมืองใดต้องการขอรับคำปรึกษาด้านงานต่างประเทศ ในฐานะที่ตนเองทำงานด้านต่างประเทศมาตลอดชีวิตก็พร้อมยินดีให้คำปรึกษา
สำหรับกรณีที่มีผู้ต้องการให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะการให้ต่างประเทศมาสังเกตการณ์ก็เท่ากับยอมรับว่าประเทศเรามีปัญหา แต่ประเทศไทยไม่มีปัญหาและคนที่จะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดีที่สุดก็คือประชาชนคนไทยด้วยกันเอง