- 01 พ.ย. 2561
พลันที่เพลงแรพขบถนามว่า "ประเทศกูมี" ปรากฏขึ้นบนสื่อที่มีอิทธิพลสูงในโลกยุคปัจจุบันอย่าง Youtube ได้นำมาซึ่งความปฏิปักษ์ทางความคิดที่แตกแยกออกเป็นสองเสียง ด้วยเนื้อเพลงที่วิพากษ์รูปแบบการใช้อำนาจและการก่ออาชญากรรมรัฐ
พลันที่เพลงแรพขบถนามว่า "ประเทศกูมี" ปรากฏขึ้นบนสื่อที่มีอิทธิพลสูงในโลกยุคปัจจุบันอย่าง Youtube ได้นำมาซึ่งความปฏิปักษ์ทางความคิดที่แตกแยกออกเป็นสองเสียง ด้วยเนื้อเพลงที่วิพากษ์รูปแบบการใช้อำนาจและการก่ออาชญากรรมรัฐ พร้อมสะท้อนสภาพสังคมในห้วงปัจจุบัน ควบคู่ฉากหลังที่ผ่านตาแว่บแรกก็รับรู้โดยง่ายว่าเป็นเหตุการณ์ "วันมหาวิปโยค" เหล่านี้ล้วนเป็นการเพิ่มโทนความดุดันในการนำเสนอให้เข้มขลังยิ่งขึ้น
กว่าหนึ่งสัปดาห์ที่มีการแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อน จากการประโคมข่าวของสื่อจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องสาธยายต่อไปให้มากความว่า ใครเป็นนักร้อง หรือใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หากที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือนัยยะบางประการที่ศิลปินกลุ่มนี้อาจแฝงไว้ให้ชวนขบคิด รวมถึงการโต้ตอบจากทางฝั่งรัฐบาลที่ดูจะฉับไวแต่ก็ยังไม่เด็ดขาดนัก
เริ่มตั้งแต่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ที่มุ่งหมายเอาผิดด้วย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ข้อหาใส่ข้อมูลระบบเข้าคอมพิวเตอร์เป็นจริง อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน แต่ทุกอย่างก็มีอันต้องตกไป อาจด้วยเพราะพลังโอบอุ้มจากสังคมกระแสหลักที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของรัฐบาลก็ดี หรือไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. ก็ดี กระทั่งล่าสุด 1 พ.ย. 2561 ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง
เมื่อ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้พุ่งเป้าประเด็นไปยังฉากหลังที่มีการนำภาพเก้าอี้ฟาดศพในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มานำเสนอ ด้วยคล้ายว่าจะเป็นการสื่อถึงความรุนแรงอย่างไม่สมควร จึงแสดงความประสงค์ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ กลุ่มผู้จัดทำเพลงมีเจตนาปลุกกระแสเพื่อนำไปขยายความต่อหรือไม่ เพราะรัฐบาล คสช. มุ่งหวังลดความขัดแย้งในสังคมเพื่อสร้างความสามัคคีเป็นหมายหลัก
ย้อนกลับมาที่ "ประเทศกูมี" กับเนื้อเพลงที่มีทั้งมูลเค้าความจริง เนื้อหาหมิ่นเหม่ ที่ปล่อยให้ผู้ฟังตีความกันตามสะดวก แต่ที่น่าสนใจยิ่งคือช่วงเวลาการเปิดตัวเพลงที่ดูจะ พอเหมาะพอเจาะดั่งผีจับยัด เพราะเมื่อพิเคราะห์แล้วจะพบว่าเดือนตุลาคมในอดีต เคยเกิดเหตุการณ์ "อาชญากรรมรัฐ" ถึงสองครั้ง อันเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ควรหยิบยกมาศึกษา
14 ต.ค. 2516 หรือตุลามหาปิติฯ กับการเคลื่อนไหวของพลังประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจเผด็จการ เป็นเหตุการณ์ที่ถูกหยิบยกมากล่าวขานในเชิงสร้างสรรค์ เป็นชัยชนะของมวลชนที่สามารถยืนหยัดอยู่เหนืออำนาจชั่วร้าย แต่แล้วจากนั้น 3 ปี ภายหลังที่ประเทศไทยหลงระเริงใจแตกกับหน่ออ่อนของประชาธิปไตยมาชั่วขณะ 6 ต.ค. 2519 ประวัติศาสตร์อันอาภัพที่ไม่ค่อยจะถูกกล่าวถึง ได้ถือกำเนิดขึ้นในมุมมืดจากการที่รัฐบาลใช้กำลังกองทัพและตำรวจปราบปรามประชาชน แม้นว่าทั้งสองเหตุการณ์จะมี เหตุตั้งต้น รูปแบบการจัดองค์การ ยุทธศาสตร์ และผลบั้นปลายที่ต่างกัน แต่ที่เหมือนกันอย่างปฏิเสธมิได้คือ "การนองเลือด" และ "ความสูญเสีย" รวม 117 ศพ
อีกประการอาจมีการสะท้อนโดยนัยถึงความเป็น "คณาธิปไตย" ของรัฐบาลทั้งสองยุคสมัย ประจวบเหมาะกับการรับรู้และขอบเขตในการแสดงออกที่เป็นไปอย่างฝืนๆ ขัดกับสภาพความเป็นจริง จึงปะทุออกมาเป็นการแสดงออกที่สุดโต่งผ่านบทเพลงในที่สุด
สังคมไทยมีลักษณะการปกครองที่เป็นรูปแบบเฉพาะแปรเปลี่ยนอย่างเป็นพลวัต หากแต่ไม่ปรับตัว เพราะกว่า 86 ปี ที่ประวัติศาสตร์พยายามยัดเยียดความเชื่อว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นไม่เคยปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม ระบอบการปกครองสับเปลี่ยนกันไปตามวาระและโอกาส เหล่านี้ทำให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยจึงมีเพียงแต่ การหามติเอกฉันท์คัดเลือกหัวหน้าห้องในวัยเยาว์ หรือการเดินเข้าคูหาเลือกตั้งเท่านั้น ผลสะท้อนกลับที่เห็นชัดจึงเป็นการปฏิเสธความเห็นต่าง ไม่ยอมรับว่าแท้จริงแล้วความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเช่นกัน แต่กลับเลือกที่จะเห็นบ้านเมืองอยู่ในสภาวะสงบสุขอย่างที่นักปกครองต้องการ
เมื่อพิจารณาอย่างเป็นกลางโดยปราศจากอคติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นกรณีที่น่าศึกษายิ่ง ทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์และการใช้อำนาจรัฐ แม้นในอนาคตจะเลือนหายและไม่ถูกกล่าวถึง ดั่งเช่นหลากหลายเรื่องราวที่ "เข้ามา" และ "ผ่านไป" ตามกระแสชั่ววูบอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ฉันท์เดียวกับประวัติศาสตร์ที่มิได้มีไว้ให้ "จำ" หากถูกจงใจทำให้ "ลืม"