- 01 พ.ย. 2561
การกินสุกๆ ดิบๆถือเป็นภัยเงียบที่มาจากอาหาร หากผู้บริโภคไม่นำเนื้อสัตว์ไปปรุงสุกเสียก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายมาก เพราะผู้บริโภคไม่สามารถรู้เลยว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภคไปนั้นมีเชื้อแบคทีเรียชนิดใดแอบแฝงติดมาบ้าง ทางกรมควบคุมโรค
การกินสุกๆดิบๆ ถือเป็นภัยเงียบที่มาจากอาหาร หากผู้บริโภคไม่นำเนื้อสัตว์ไปปรุงสุกเสียก่อนถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายมาก เพราะผู้บริโภคไม่สามารถรู้เลยว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภคไปนั้นมีเชื้อแบคทีเรียชนิดใดแอบแฝงติดมาบ้าง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ได้เล็งเห็นถึงจุดเสี่ยงนี้จึงจำเป็นต้องออกมาแนะให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานหมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เนื่องจากอาจเกิดโรคไข้หูดับ จนทำให้หูดับหนวกถาวร หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังเผยว่าปี 61 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 274 ราย โดยเกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ป่วยในภาคเหนือ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้ออกมาเตือนประชาชน ให้ระวังในช่วงหน้าเทศกาลปีใหม่หรืองานบุญต่างๆที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการจัดเลี้ยงกันมากเป็นพิเศษ ในบางท้องถิ่นจะจัดหาของแปลกๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบมาต้อนรับแขกร่วมงาน ผู้บริโภคจึงควรระวังเป็นอย่างยิ่งหากบริโภควัตถุดิบปรุงไม่สุขเข้าไปเช่น ลาบเลือด ก้อย หลู้ หมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก เป็นต้น ซึ่งเมนูเหล่านี้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส ได้
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 317 ราย เสียชีวิต 15 ราย ส่วนในปี 2561 พบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–19 ตุลาคม 2561 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 274 ราย เสียชีวิต 26 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาอายุ 45-54 ปี ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ จำนวน 199 ราย หรือเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสระแก้ว ตามลำดับ
ซึ่ง นายแพทย์สุวรรณชัย เผยอีกว่า โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้ติดต่อได้ 2 ทาง คือ
1. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา
2. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ อาจทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร และอาจเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ คือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น วิธีป้องกันโรค คือ
1. กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
2. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
แต่หากมีอาการขั้นต้นอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นให้ รีบไปพบแพทย์โดยด่วน พร้อมบอกประวัติการทานหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพราะหากไปพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอาการหูหนวกและเสียชีวิตลงได้ หรือหากท่านใดมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อไปได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ก่อนสายเกินแก้
ขอบคุณข้อมูล thaihealth