- 08 พ.ย. 2561
นับเป็นข่าวดีที่ทำให้เหล่าเกษตรกรลูกหนี้ได้ยิ้มกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ
นับเป็นข่าวดีที่ทำให้เหล่าเกษตรกรลูกหนี้ได้ยิ้มกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เผยว่า ขณะนี้ได้รายงาน ความคืบหน้าของการดำเนินการ ของคณะกรรมการกองทุนฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรณีการแก้ไขปัญหาหนี้สินเร่งด่วนของเกษตรกร โดยกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำรอยเฉกเช่นโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้
เบื้องต้น คณะกรรมการฯ เฉพาะกิจ ได้รับแจ้งว่า มีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 7,930 ราย ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหนี้ดำเนินการทางกฎหมาย โดยกลุ่มนี้จำต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจรจากับสถาบันเจ้าหนี้ชะลอการดำเนินการได้ 2,299 ราย แต่เจ้าหนี้ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการทวงหนี้ 444 ราย มีเพียง 158 รายเท่านั้นที่ชำระหนี้ด้วยตนเอง
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร มีดังต่อไปนี้
1. กรณีเกษตรกรมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปี 2560 ได้อนุมัติให้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดการหนี้ให้กับเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย หนี้รวม 642.54 ล้านบาท
2. กรณีขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์จัดการหนี้ปี 2560 ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา แบ่งได้ดังนี้คือ ลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 36,605 ราย วงเงินที่เป็นหนี้ 6,382.67 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงค้าง อีก 3,829.38 ล้านบาท ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานแล้วเมื่อ 2 ต.ค. 2561
ทั้งนี้ ทาง ธ.ก.ส. จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีการพักชาระเงินต้นให้ 50% พร้อมกับการพักดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด โดยจะให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้น 50% ตามเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี อัตราดอกเบี้ย MRR.-3 เมื่อเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะพิจารณายกให้เกษตรกร ส่วนเงินต้นที่เหลืออีก 50% ให้นำมาปรับโครงสร้างใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าหนี้ เพื่อความเป็นธรรมของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้
ส่วนลูกหนี้ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า มีทั้งสิ้น 2,389 ราย รวมวงเงิน 630.59 ล้านบาท ซึ่งทางภาครัฐได้เริ่มเจรจากับผู้บริหารธนาคารทั้ง 2 เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ยังคงต้องรอคณะกรรมการธนาคารพิจาณาก่อนที่จะดำเนินการต่อไป สำหรับลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย จำนวน 573 ราย วงเงินเป็นหนี้ 383.45 ล้านบาท ตอนนี้ทางธนาคารยืนยันว่าจะทำการลดภาระลูกหนี้ด้วยการให้ชำระเพียง 50% ของเงินต้นคงค้างเพียงครั้งเดียว ภายใน 30 มิ.ย. 2562 หากเกษตรรายใดไม่พร้อมที่จะชำระในคราวเดียว กระทรวงเกษตรฯ มีหนังสือแจ้งเพื่อให้เกษตรกรไปติดต่อขอกู้เงิน จากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (กชก.) เพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคาร
ด้านสหกรณ์การเกษตร เผยข้อมูลว่าขณะนี้ยังมีลูกหนี้ จำนวน 15,973 ราย วงเงินเป็นหนี้ 2,345.01 ล้านบาท ภายหลังทำการเจรจาพบว่ามีสหกรณ์ที่ยินยอมให้กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน 238 สหกรณ์ สมาชิก 1,398 ราย วงเงินเป็นหนี้ 599.10 ล้านบาท จึงขอให้ทางสหกรณ์ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในเบื้องต้น เช่น การลด ดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ ทั้งนี้ยังพบว่ามีเกษตรกรอีกกลุ่มที่เป็นลูกหนี้ของนิติบุคคล เบื้องต้นได้เจรจาให้ร่วมกันหาทางออกเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ทางภาครัฐยังได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกรให้กับองค์กรเกษตรกร จำนวน 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท และจัดทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จำนวน 1,114 โครงการ เกษตรกรได้รับการฟื้นฟู จำนวน 17,532 ราย วงเงินช่วยเหลือ 33.38 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยหาทางออกให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้และใช้จ่ายต่อไป