- 14 พ.ย. 2561
ปัญหาราคายางถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมานี้พบว่าราคายางร่วงลงไปอยู่ที่ 3 กก. 100 บาท มาเป็นเวลานาน โดยรากของปัญหาที่แท้จริงคือผลผลิตจากยางมีปริมาณที่สวนทางกับความต้องการของตลาดไทยและเทศ กล่าวคือ มีอุปทานผลผลิตมากเกินกว่าจำนวนผู้ซื้อ
ปัญหาราคายางพาราถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมานี้พบว่าราคายางร่วงลงไปอยู่ที่ 3 กก. 100 บาท มาเป็นเวลานาน โดยรากของปัญหาที่แท้จริงคือผลผลิตจากยางมีปริมาณที่สวนทางกับความต้องการของตลาดไทยและเทศ กล่าวคือ มีอุปทานผลผลิตมากเกินกว่าจำนวนผู้ซื้อ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่เคยเป็นลูกค้ารายใหญ่ของโลกนั้น สามารถปลูกยางพาราได้เองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่าล่าสุดมีการสต็อกยางดิบมากกว่า 5 แสนตัน เหตุฉะนี้จึงส่งกระทบเป็นวงกว้างยังประเทศที่เคยเป็นผู้ส่งออก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าทุกภาคส่วนก็มิได้นิ่งดูดายพยายามเสนอแนะให้เกษตรในพื้นที่ภาคใต้หันไปปลูกผลผลิตประเภทอื่น มากกว่าที่จะมุ่งปลูกยางพาราเช่นแต่ก่อน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูแลภาคใต้ ได้มีการเคลื่อนไหวโดยการ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มตกต่ำ โดยข้อเสนอมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการคือ
ประการแรก รัฐบาลต้องมีความโปร่งใสเปิดเผยอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาว่า ก่อนหน้านี้ที่เคยประกาศจะใช้ยางพาราแสนตันนั้น ใช้ไปแล้วกี่ตัน เพราะจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีสัดส่วนการนำไปใช้น้อยมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้รัฐบาลจะมองเห็นถึงปัญหาและให้ความสำคัญแต่ยังก็ไม่สามารถผลักดันมาตรการต่างๆให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่สอง ต้องทำให้ชาวเกษตรกรมีรายได้เสริม เป็นต้นว่าแนะนำให้ปลูกพืชนิดอื่น เพราะจะเห็นได้ว่าการทำงานของรัฐบาลขณะนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการเชิงรุก
ขณะเดียวกันรัฐบาลจำต้องเตรียมวางแผนการตลาดเพิ่มความมั่นใจแก่เกษตรกรว่าถ้าปลูกแล้วย่อมได้กำไร ประการที่สาม ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำยางพาราไปแปรรูปตรงข้ามกับในระดับชุมชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงาน เนื่องด้วยมีข้อจำกัดเรื่องผังเมือง ในส่วนนี้รัฐบาลจึงควรอนุญาตอย่างเร่งด่วน
โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาโดยหลัก คือ ขณะนี้ปริมาณยางพาราในสต๊อกยังคงล้นอยู่ ถ้าสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเบื้องต้นประมาณ 3 แสนตันได้ ราคายางจะขยับขึ้นโดยทันที แต่ก็ต้องใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้คล้ายว่ารัฐบาลจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ แต่กลับนำไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกงและราชบุรี ทำให้สูญเสียค่าขนส่ง 1 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมโดยเปล่าประโยชน์ จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศโดยตรง เนื่องจากประชาชนขาดรายได้จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคฯให้ความสำคัญมากที่สุด จึงเร่งขอให้รัฐบาลทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น
ทางด้านนายนิพิฏฐ์ ระบุว่า รัฐบาลจำต้องดำเนินการตามคำเรียกร้องดังกล่าวในทันที เพื่อปากท้องของประชาชน เพราะตามแผนที่รัฐบาลระบุว่าจะให้หน่วยงานราชการใช้ 1 แสนตันนั้น กลับปฏิบัติจริงได้เพียง 1,129 ตันเท่านั้น ส่วนเรื่องน้ำมันปาล์มนั้น น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล คณะทำงานของพรรคฯ ขณะนี้ปาล์มมีสต๊อกเกิน 3 แสนตัน ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มถูกกดไว้ ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ต้องกำจัดออกจากระบบ เพื่อให้ราคาปาล์มเข้าสู่ดุลยภาพ แต่กลับพบว่ารัฐบาลเตรียมนำไปใช้จริงแค่ 1.6 แสนตัน ด้วยการไปใช้ที่โรงไฟฟ้าราชบุรี บางปะกง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะจะมีเงินสูญเปล่าจากค่าขนส่งถึง 160 ล้านบาท เกี่ยวกับเรื่องนี้ตนจึง ขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 16-17 บาท แต่กลับขายราคาขวดละ 42 บาท ก่อให้เกิดความไม่ธรรมต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามคงต้องดูกันต่อไปว่า ภายหลังจากทางพรรคฯ เรียกร้องไปยังรัฐบาลแล้วจะได้รับการตอบกลับหรือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่อย่างไร