- 17 พ.ย. 2561
"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) โดยภายหลังการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น รวมถึงหารือในหลายๆประเด็น
ช่วงบ่ายวันนี้ (17 พฤศจิกายน) ณ เอเปคเฮ้าส์ (APEC Haus) "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือเต็มคณะระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) โดยภายหลังการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น รวมถึงหารือในหลายๆประเด็น
โดยมีสมาชิกที่เป็นผู้แทนจากประเทศไทย คือ "นายสุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธาน ABAC ไทย เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้การพบหารือกับสภาฯที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ในการประชุมเอเปคครั้งนี้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 โดย"นายกรัฐมนตรี"ได้ร่วมหารือกับผู้นำจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อาทิ ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา และพบกับสมาชิก ABAC ซึ่งเป็นผู้แทนธุรกิจจากอีก 7 เขตเศรษฐกิจ อาทิ จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ปาปัวนิวกินี รัสเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
"พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ "นายกรัฐมนตรี"ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางเกี่ยวกับความสำคัญของการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและสารสนเทศที่ครอบคลุมทั่วถึง โดยรัฐบาลไทยได้พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0
เช่น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรอง EEC รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการเพื่อส่งเสริมการได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และรับมือกับความท้าทายที่ตามมา โดยเฉพาะความปลอดภัยทางไซเบอร์
นอกจากนี้ ทางด้านรัฐบาลยังได้ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อปรับปรุงระบบการเรียนการศึกษา การฝึกทักษะ และการวิจัย เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยภาคเอกชนถือเป็นปัจจัยหลักและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เอเปคสามารถบรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงผลประโยชน์จากยุคดิจิทัลอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม "พลเอก ประยุทธ์" ได้เปิดเผยว่า ABAC สามารถมีส่วนช่วยโดยการหยิบยกประเด็นความท้าทายจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง พร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
จากนั้น "นายกฯ" ได้เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับผู้นำกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยประเทศไทยมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ตามความตกลงปารีส รวมทั้งยินดีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศระหว่างกันเกี่ยวกับการทำประมงอย่างยั่งยืน
และการแก้ไขปัญหา IUU และร่วมสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านความร่วมมือในสาขาต่างๆ โดยประเทศไทยพร้อมที่จะนำเสนอหลัก SEP เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs