สิ้น "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานอมตะ "มหาลัย เหมืองแร่"

  ถือเป็นเรื่องเศร้าในวงการวรรณกรรมไทย เมื่อเจ้าของผลงานสุดอมตะเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ หรือที่เรารู้จักกันดีในภาพยนต์เรื่อง "มหาลัย เหมืองแร่" และอดีตบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 61) เวลา 17.44 น.

สิ้น \"อาจินต์ ปัญจพรรค์\" ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานอมตะ \"มหาลัย เหมืองแร่\"

  ถือเป็นเรื่องเศร้าในวงการวรรณกรรมไทย เมื่อเจ้าของผลงานสุดอมตะเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ หรือที่เรารู้จักกันดีในภาพยนต์เรื่อง "มหา'ลัย เหมืองแร่" และอดีตบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ "อาจินต์ ปัญจพรรค์" ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 61) เวลา 17.44 น. ปิดตำนานชายผู้มีพรสวรรค์ในด้านงานเขียนรังสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยกย่องในหมู่ผู้อ่านรวมถึงเหล่าผู้เขียนวรรณกรรมด้วยกัน จนได้ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 

     หากย้อนประวัติ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ถือว่าเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีชีวิตน่าสนใจ โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์  เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรชายของขุนปัญจพรรค์พิบูล (พิบูล ปัญจพรรค์) อดีตนายอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และข้าหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และข้าหลวงจังหวัดนครปฐม กับนางกระแส ปัญจพรรค์ (โกมารทัต) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พล.ต.ท.ลัดดา ปัญจพรรค์ และวัฒนา ปัญจพรรค์ มีน้องสาวต่างมารดาคือ เยาวรัตน์ ปัญจพรรค์
 

   ด้านการศึกษาเมื่อครั้งเยาว์วัย เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เรียนระดับอุดมศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มหาวิทยาลัยงดการเรียนการสอน นิสิตต่างพากันกลับบ้านเกิดหนีการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพมหานคร เมื่อภาวะสงครามสงบ อาจินต์กลับมาเรียนอีกครั้ง แต่การใช้ชีวิตในช่วงหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อาจินต์กลับมาเรียนต่อได้ไม่ดี ทำให้ถูกรีไทร์ บิดาจึงส่งไปทำงานหนักในเหมืองแร่เพื่อดัดนิสัยที่จังหวัดพังงา อาจินต์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวมาเขียนในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ซึ่งต่อมานำมาสร้างภาพยนต์จนโด่งดัง

  อาจินต์รักการอ่านหนังสือ และสนใจข่าวสารจากสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความสนใจในงานประพันธ์ เริ่มต้นจากเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ได้เขียนเรียงความเรื่อง "โรงโขนหลวง" ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ส่งไปลงหนังสือ "สุวัณณภูมิ" หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเขียนเรื่องงานง่ายๆ ลงในหนังสือ “ฉุยฉาย” รายสัปดาห์ และ “ชวนชื่น” รายสัปดาห์

    พ.ศ. 2489 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคำขวัญสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติด้วยข้อความว่า "สงครามคือบาป สันติภาพคือบุญ" ได้เงินมา 500 บาท

    พ.ศ. 2490 ทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ในหน่วยเฉพาะกิจสำรวจสำมะโนประชากร ทำได้ไม่นานลาออกไปเรียนกฎหมายต่อ แต่ไม่ได้จริงจัง ต่อมาไปทำงานที่เหมืองแร่ จังหวัดพังงา เขียนเรื่องสั้น “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” และเขียนสารคดี "จดหมายจากเมืองใต้" ในนามปากกา “จินตเทพ” ลงในหนังสือ “โฆษณาสาร” รายเดือน  เริ่มทำงานที่เหมืองแร่เรือขุดแร่ดีบุก “กัมมุนติง” (Kammunting Tin Dredging) ในตำแหน่งฝึกงานช่างตีเหล็ก ได้ค่าจ้างวันละ 6 บาท ในขณะนั้นเขียนเรื่องสั้น "สีชมพูยังไม่จาง" ส่งให้น้องสาว วัฒนา ปัญจพรรค์ (ซึ่งกำลังเรียนที่เภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นำลงหนังสือ “มหาวิทยาลัย" ฉบับ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ทำงานช่างตีเหล็กได้ไม่ถึงเดือน มีอาการไอเป็นเลือด
เกิดจากการทำงานหนัก ทำให้เส้นเลือดฝอยแตก

พ.ศ. 2492 ทำงานที่เหมืองกระโสม (Krasom Tin Dredging) ช่างเขียนแบบ เงินเดือน 500 ต่อเดือน และช่างทำแผนที่ เงินเดือน 800 บาท

พ.ศ. 2494 ระหว่างทำงานที่เหมืองกระโสม ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พี่สาวเจอนิยายของน้องชายที่ห้อง จึงได้นำไปให้ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของนามปากกา “อิงอร” ช่วยพิจารณา และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ "เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก" ส่งไปให้ ประหยัด 
ศ.นาคะนาท ลงใน “พิมพ์ไทย” วันจันทร์ มีผู้สนใจมาก จึงได้ส่งอีกเรื่อง "ผู้กล้าหาญ" ได้รับการตอบรับไม่ดีเท่า "เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก"

พ.ศ. 2496 เหมืองแร่เลิกกิจการ จึงเดินทางกลับมากรุงเทพมหานคร และเขียนนวนิยายอย่างจริงจัง เรื่อง "บ้านแร" หลายตอนจบลงใน “โฆษณาสาร” กับแปลเรื่อง "เฮนรี่ เจ.ไกเซอร์" และ "ค่ายโคบาล" ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ลงพิมพ์ใน “สตรีสาร” เป็นกลอน ไม่ค่อยได้ค่าเรื่อง รวมทั้งเรื่อง "ในเหมืองแร่มีนิยาย" 4 ตอนจบในนิตยสาร “จ.ส.ช.”

พ.ศ. 2497 เรื่องสั้น "สัญญาต่อหน้าเหล้า" ในนามปากกา “จินตเทพ” ลงพิมพ์ "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" ฉบับปฐมฤกษ์ ประหยัด ศ.นาคะนาท เป็นบรรณาธิการ ทำให้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้นชุด "เหมืองแร่" ลงพิมพ์ในนิตยสาร “ชาวกรุง”

พ.ศ. 2498 ทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือช่อง 4 บางขุนพรหม จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปิดสถานีโทรทัศน์ในวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ทำหน้าที่เขียน "ผังรายการโทรทัศน์" ได้เงินเดือนเริ่มต้น 800 บาท

พ.ศ. 2499 บรรณาธิการ นิตยสาร "ไทยโทรทัศน์" รายเดือน ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

พ.ศ. 2502 ได้รับเลือกให้ไปดูงานด้านโทรทัศน์กับชาวอเมริกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 เดือน

สิ้น \"อาจินต์ ปัญจพรรค์\" ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานอมตะ \"มหาลัย เหมืองแร่\"

พ.ศ. 2508 ตั้งสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์เรื่องสั้นของตนเอง โดยเริ่มระบบเขียนเอง – พิมพ์เอง – ขายเอง ในราคาเล่มละ 5 บาท เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า โอเลี้ยง 5 แก้ว ขณะที่รวมเรื่องสั้นชุดแรก "ตะลุยเหมืองแร่" ได้รับเลือกให้ไปประชุมนักเขียนเรื่องสั้น “แอฟโฟร อาเซียน” F4 Asian ที่ประเทศสหภาพโซเวียต 1 เดือน เมื่อกลับมากรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ารวมเรื่องสั้นชุดแรกได้จำหน่ายหมดแล้ว จึงได้พิมพ์ "ธุรกิจบนขาอ่อน" และเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่ก็ยังคงทยอยออกมาเป็นระยะคือ "เหมืองน้ำหมึก" "เสียงเรียกจากเหมืองแร่" และ "สวัสดีเหมืองแร่" ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังตั้งคณะละครโทรทัศน์ของตนเอง

สิ้น \"อาจินต์ ปัญจพรรค์\" ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานอมตะ \"มหาลัย เหมืองแร่\"

พ.ศ. 2511 ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกผังรายการ และหัวหน้าแผนกบริการธุรกิจ เงินเดือน 2,800 บาท และตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร "ไทยโทรทัศน์" อีกเดือนละ 800 บาท

พ.ศ. 2512 ร่วมหุ้นตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และทำนิตยสาร "ฟ้าเมืองไทย" รายสัปดาห์ ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2512 ในราคาเล่มละ 3 บาท เป็นที่นิยมมาก จึงได้คิดหนังสือเล่มใหม่ โดย สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นผู้ลงทุน "ฟ้าเมืองทอง" รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ เมษายน พ.ศ. 2519 ประสบผลสำเร็จ จึงออก "ฟ้านารี" รายเดือนให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกหนึ่งฉบับ มีศรีเฉลิม สุขประยูร เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ได้ไม่นานก็เลิก ภายหลังทำ "ฟ้าอาชีพ" รายเดือนอีกระยะหนึ่ง ก็หยุดทำ "ฟ้าเมืองทอง" ส่วน "ฟ้าเมืองไทย" มาสิ้นสุดตอน ตุลาคม พ.ศ. 2531 ผู้อ่านแสดงความรู้สึกเสียดาย จึงตัดสินใจทำนิตยสาร "ฟ้า" รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ มกราคม พ.ศ. 2532 ผลิตและจำหน่าย 3 ปีก็ยุติลง ตุลาคม พ.ศ. 2543 ตลอดเวลาได้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้โด่งดังเป็นจำนวนมาก

   นอกจากนี้ยังสนใจในเรื่องการแต่งเพลงเป็นงานอดิเรก เพลงที่ได้รับความนิยม เช่น เพลงประกอบละคร "สวัสดีบางกอก" และ "อย่าเกลียดบางกอก" เนื้อเพลง "มาร์ชลูกหนี้" และ "อาณาจักรผีๆ" เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" และ "แม่นาคพระนคร" "จดหมายรักจากเมียเช่า" เนื้อเพลงในชุด "ปริญญาชาวนา" ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ

 

สิ้น \"อาจินต์ ปัญจพรรค์\" ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของผลงานอมตะ \"มหาลัย เหมืองแร่\"

    สำหรับกำหนดการรดน้ำศพของ  อาจินต์ ปัญจพรรค์ จะจัดขึ้นในวันที่  18 พ.ย.61 เวลา 4 โมงเย็น วัดตรีทศเทพ ศาลา9 โดยทางครอบครัวได้ให้บุคคลทั่วไปที่เป็นแฟนวรรณกรรมของ อาจินต์ ปัญจพรรค์  เข้ามาเคารพศพได้ พร้อมขอความกรุณาแต่งกายสุภาพ