- 20 พ.ย. 2561
สืบเนื่องจากประเด็นความเคลื่อนไหวของบริษัททุนยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ก่อนหน้านี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์แผนการตลาดมาโดยตลอด รวมถึงกรณี การรวมตัวกับพันธมิตรเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Consortium
สืบเนื่องจากประเด็นความเคลื่อนไหวของบริษัททุนยักษ์ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ก่อนหน้านี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์แผนการตลาดมาโดยตลอด รวมถึงกรณี การรวมตัวกับพันธมิตรเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Consortium เพื่อยื่นซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง CP ยืนยันว่า จะนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เป็นระดับโลกมาร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทุกฝ่ายต่างตั้งใจและพร้อมมีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง
"รถไฟความเร็วสูงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะเป็นหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของไทย และหลังจากยื่นซองประมูลแล้วขอประกาศว่าจะเข้าสู่ช่วง Silence Period ตามมารยาทการแข่งขันและธรรมาภิบาลที่ดี" นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เครือ CP ระบุ (อ่านต่อเพิ่มเติม : เอาทุกทางจริงๆ "ซีพี" ยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไทยแลนด์4.0)
แน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวนำมาซึ่งข้อถกเถียงว่าครั้งนี้ CP มีเจตนาเพื่อหวังสัมปทานขับเคลื่อนผลประกอบการอย่างมีนัยยะ หรือเพื่อประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดประมูลให้เอกชนร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า ทางรฟท. ได้ตรวจสอบความถูกต้องเอกสารซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติทั่วไปของเอกชนที่ยื่นประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยพบว่าผู้ยื่นทั้ง 2 รายคือ
1. กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์ หรือ CP และพันธมิตร
2. กลุ่มบีเอสอาร์ ซึ่งมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้ถือหุ้นหลัก
อย่างไรก็ตามทาง รฟท. กล่าวว่าหลังจากนี้ยังต้องทำการตรวจสอบเอกสารซองที่ 2 ซึ่งเป็นด้านเทคนิค แต่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ โดยจะใช้คะแนนจากกรรมการเป็นเกณฑ์ตัดสิน และจะต้องมีคะแนนในแต่ละหมวดไม่ต่ำกว่า 75 คะแนน และคะแนนรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการประเมิน หลังจากนั้นจึงจะสามารถเริ่มเปิดซองที่ 3 ต่อไป
ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินแบ่งออกเป็น 6 หมวดด้วยกัน ประกอบไปด้วย
1. โครงสร้างองค์การและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงานรวมถึงแผนงานรวม
2. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา
3. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบ เครื่องกล และไฟฟ้า และขบวนรถไฟ
4. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคการให้บริการเดินรถ และบำรุงรักษา
5. แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม
6. การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์
พร้อมกันนั้น มูลค่าการลงทุนราว 2.24 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในระบบขนส่งทางรถไฟ 1.68 แสนล้านบาท ,การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 4.51 หมื่นล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ 1.06 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นเวลา 50 ปี ซึ่งหากกระบวนการพิจารณาทั้งหมดเสร็จสิ้น ทางรฟท. คาดว่า จะมีการลงนามทำสัญญาภายในปี 2562 คงต้องติดตามกันต่อไปว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จะสร้างคุณประโยชน์ด้านการขนส่งให้แก่ประเทศได้มากน้อยเพียงใด