- 22 พ.ย. 2561
จากปัญหาราคายางตกต่ำที่ส่งผลต่อการดำรงชีพในกลุ่มชาวสวนยางจนมีทีท่าว่าจะบานปลายอยู่ทุกขณะ แต่ทางรัฐฯ ก็มิได้นิ่งดูดาย เมื่อล่าสุดวันที่ 22 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์
จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่ส่งผลต่อการดำรงชีพในกลุ่มชาวสวนยางจนมีทีท่าว่าจะบานปลายอยู่ทุกขณะ แต่ทางรัฐฯ ก็มิได้นิ่งดูดาย เมื่อล่าสุดวันที่ 22 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาเผยว่า ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ
เนื่องจากขณะนี้มีกำลังการผลิตที่สูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี แต่สวนทางกับความต้องการในประเทศที่มีการใช้เพียง 6 แสนตัน หรือประมาณ 14.2% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปส่งออก ทำให้ตลาดกลายเป็นผู้กำหนดราคา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการซื้อขายมีลักษณะเป็นการซื้อขายแบบล่วงหน้า จากข้อมูลการซื้อขายยางของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซียพบว่า มีการใช้ยางพาราในประเทศ 35% ส่งออก 65% ทำให้ปัญหาราคายางไม่รุนแรงเทียบเท่าไทย
โดยราคายางแผ่นดิบขณะนี้ กิโลกรัมละ 40 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 63 บาท ทางธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะไม่เกินต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 66 บาท อีกทั้งในขณะนี้ประชาคมโลกได้เข้าสู่สงครามเศรษฐกิจจึงมีผลสะท้อนกลับมายังราคายาง เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามาก คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะเศษฐกิจต่ำเกือบทั่วโลกส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกลดลงตามไปด้วย
ขณะนี้มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่เริ่มลดพื้นที่เพาะปลูกลง ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากงานวิจัยของนายอัทธ์ พิศาลวนิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้า ในหัวข้อ "วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย : อุปสรรคและทางรอด" สรุปความสำคัญได้ว่า ปัจจุบันราคายางลดลงถึง 72% จากปี 2554 ไทยยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมาก โดยพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีเอกสารสิทธิถูกต้อง 14 ล้านไร่ ส่วนที่แจ้งการปลูกแต่เป็นที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิมากถึง 4 ล้านไร่ มาเลเซียลดพื้นที่เพาะปลูกลงแล้ว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นประเทศไทยจำต้องลดพื้นที่ปลูกอย่างน้อย 30% ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มราคาในทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามเมื่อลดพื้นที่เพาะปลูกแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือต้องสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย พร้อมกับส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรในการปลูกยางพารา เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้และมีกำลังต่อรองราคาขาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบเพื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์นำไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากนั้นจึงค่อยขยายแนวทางปฏิบัติไปยังภาคเอกชน
ยางพาราเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมายาวนาน จากภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบในการเพาะปลูก ก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นประเทศผู้ผลิตยางส่งออกอันดับหนึ่งของโลก หากแต่ในระยะยาวกลับส่งผลเสียมากกว่าผลดีสืบเนื่องจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ทำให้ราคาตกลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าแท้จริงแล้วการแปรรูปยางสามารถทำได้หลากหลาย แต่ปัญหาที่ปรากฏคือไม่ได้รับการสนับสนุนภาคการผลิตเท่าที่ควร โดยอุตสาหกรรมยางภายในประเทศนั้นส่วนใหญ่ คือ
1. ยางยานพาหนะ ได้แก่ ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยานยนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยาง ใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเกือบร้อยละ 50
2. ยางยืดและยางรัดของ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติจำนวนมากในส่วนผสมยางยืดใช้ใน อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนยางรัดของก็ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
3. ถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองจากยางยานพาหนะ ส่วนถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย ถุงมือตรวจโรค และถุงมือผ่าตัด สำหรับวัตถุดิบยาง ธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง เป็นนํ้ายางข้น
4. รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา รองเท้ายางและพื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์กีฬาบางชนิด มี ส่วนผสมที่เป็นยางธรรมชาติเช่นกัน
5. สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ จะใช้วัสดุจำพวกยางและ นำเข้าจากต่างประเทศ ให้ความรู้สึกในการปฏิบัติงานเหมือนของจริง ยางพาราสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอน การฝึก ปฏิบัติงานได้เช่นกันโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางฟองนํ้า
จะเห็นได้ว่าหากรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแปรรูปยางมากขึ้น ย่อมแก้ปัญหาราคายางที่เป็นปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ได้ไม่มากก็น้อย