- 26 พ.ย. 2561
สืบเนื่องจากปัญหาการเบี้ยวหนี้ ในลักษณะ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่แพร่ระบาดในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. โดยส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการขาดวินัยทางการเงิน และขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ "กองทุนกู้ยืม"
สืบเนื่องจากปัญหาการเบี้ยวหนี้ ในลักษณะ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่แพร่ระบาดในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. โดยส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการขาดวินัยทางการเงิน และขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ "กองทุนกู้ยืม" อันเป็นทุนหมุนเวียนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชน จากข้อมูลล่าสุดเผยว่าขณะนี้มีเงินค้างชำระรวมทั้งสิ้นกว่า 70,000 ล้านบาท
แต่แล้วรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อ "ลงดาบ" ด้วยวิธีการบังคับใช้ พ.ร.บ. กยศ. ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ มีสาระสำคัญที่ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ เพื่อให้หักเงินเดือนได้ และต้องเเจ้งสถานะลูกหนี้ให้นายจ้างทราบว่ามีหนี้ ล่าสุดทาง กยศ. ได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้กยศ.ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
โดยจะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง และในช่วงต้นปี 2562 จะเริ่มทำการหักจากเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนกว่า 8-9 เเสนคน โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดไล่ลงมาตามลำดับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 25 พ.ย. 2561 ดร.มีชัย ออสุวรรณ นักปฏิรูปการศึกษารุ่นใหม่ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ อดีตนักวิจัยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงออกถึงการ เห็นด้วยกับแนวทางที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กยศ. ที่ก่อนหน้านี้กล่าวว่า...
"ที่ผ่านมาประชาชนได้รับความเดือดร้อน กรณีหนี้กยศ.เป็นจำนวนมาก บางคนกู้เงินไปเรียน 2 แสน แต่มีหนี้รวม 6 แสนเพราะเจอทั้งค่าปรับและดอกเบี้ย พรรคประชาชาติจึงมีแนวคิดเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว ใครมีหนี้ก็ต้องใช้ แต่ค่าปรับและดอกเบี้ยต้องยกเลิก พร้อมกันนี้ทางพรรคยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชน ระบบประกันสุขภาพของคนไทยต้องเท่าเทียมกัน เราต้องการคืนหมอคืนโรงพยาบาลให้กับประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน"
โดยทาง ดร.มีชัย เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจการศึกษา (Economics of Education) กล่าวไว้ว่าทุนมนุษย์ หรือตัวตน เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ ทุนมนุษย์มีความหัศจรรย์เหนือกว่าทุนประเภทอื่นๆ มากกว่า ตึก เครื่องจักร รถ ต้นไม้และแร่ธาตุ เพราะทุนมนุษย์ไม่มีวันใช้หมด ไม่มีค่าเสื่อม ยิ่งใช้งานยิ่งมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีคุณค่า
ดังนั้น การที่รัฐลงทุนในการศึกษา การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม งานวิจัยขององค์การ UNESCO ระบุว่าประเทศที่มีประชากรที่มีการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก จะเป็นประเทศที่มีลักษณะดังนี้
1. มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง
2. มีคดีอาชญากรรมต่ำ ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับค่าใช้จ่ายในการจับโจรผู้ร้าย หรือ ดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ
3. มีประชาชนที่มีระเบียบวินัย มีความรู้ มีความภาคภูมิใจ เข้าใจพหุวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันได้บนความต่างของวัฒนธรรม
4. มีประชาชนที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ
5. ประชาชนมีความเท่าเทียมกันด้านรายได้ คนมีงานทำ
6. มีผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ในวันเกษียณ ประหยัดงบอุ้มสังคมสูงวัย
7. ที่สำคัญที่สุดคือ มีความเป็นประชาธิปไตยแข็งแกร่ง
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากหนี้กยศ. จึงไม่ใช่แค่ผู้เรียนเท่านั้น แต่รวมถึงรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน แต่สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ภาครัฐกลับมีมาตรการในการผลักภาระทางการเงินจากภาครัฐไปสู่ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้ค้ำประกัน ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองก็เป็นผู้รับประโยชน์จากหนี้สิน กยศ. ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้
อย่างไรก็ตามพบว่าหลังจาก มี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีผู้กู้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ กยศ.เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 2562 อาจรับได้เงินทุนกลับมาหมุนเวียนมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท