- 04 ธ.ค. 2561
การจากไปของ ดาวตลกหญิงชื่อดังมากความสามารถ นาม ชูศรี มีสมมนต์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2535 ทำให้ใครหลายคนต้องโศกเศร้า แม้นว่าจะเป็นสัจธรรมของโลกแต่ก็นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ถูกนำมากล่าวถึงให้ชนรุ่นหลังได้หวนระลึก
การจากไปของ ดาวตลกหญิงชื่อดังมากความสามารถ นาม ชูศรี มีสมมนต์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2535 ทำให้ใครหลายคนต้องโศกเศร้า แม้นว่าจะเป็นสัจธรรมของโลกแต่ก็นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ถูกนำมากล่าวถึงให้ชนรุ่นหลังได้หวนระลึก และในวันนี้ 4 ธ.ค. ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำนักข่าวทีนิวส์จะพาทุกท่านย้อนกลับไปทำความรู้จักดาวตลกผู้เป็นตำนานกันอีกครั้ง
ชูศรี มีสมมนต์ หรือ ชูศรี โรจนประดิษฐ์ เกิดวันที่ 26 มกราคม 2472 เป็นดาราตลกหญิงอาวุโสที่มีชื่อเสียงรุ่นเดียวกับ ล้อต๊อก ,ดอกดิน กัญญามาลย์ ,สมพงษ์ พงษ์มิตร ,ท้วม ทรนง, พูนสวัสดิ์ ธีมากร, มาลี เวชประเสริฐ, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต และ จุรี โอศิริ ชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนนาฏศิลป์ จากนั้นเข้ารับการศึกษาต่อจนจบชั้น ม.6 ที่โรงเรียนขัตติยานีผดุง อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าจากทางครอบครัวของเธอว่า แต่เดิมนั้นทางบ้านต้องการส่งเสียให้เรียนต่อวิชาชีพพยาบาลเพราะมีความมั่นคง แต่เธอกลับปรารถนาเดินในเส้นทางบันเทิง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการที่มีโอกาสคลุกคลีกับการแสดงเมื่อครั้งเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ ทำให้ในที่สุดเธอจึงเลือกเดินทางของตัวเอง ปฏิเสธข้อเสนอจากทางบ้าน ข้อมูลเพิ่มเติมเผยว่าอาจารย์ลัดดา สารตายนต์ แห่งโรงเรียนนาฏศิลป์ในสมัยนั้น ริเริ่มตั้งคณะละคร "ชายจริงหญิงแท้" เรื่องแรกคือ "ผกาวลี" ผู้รับบทพระเอกคือ อุโฆษ จันทร์เรือง เปิดแสดงที่โรงละครแห่งชาติ แน่นอนว่าชูศรี ก็มีบทบาทโลดแล่นบนเวทีแห่งนี้เช่นกัน ว่ากันว่าในเวลาต่อมาผู้ถ่ายทอดศาสตร์วิชาตลกให้เธอ ก็มิใช่ใครอื่นหากเป็น อบ บุญติค
ด้วยบุคลิกของชูศรี ที่เหมาะสมกับบทตลกทำให้เธอประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ถึงแม้จะไม่ได้รับบทนางเอก แต่บทเพื่อนนางเอกของเธอนั้นก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากนั้นเธอจึงเริ่มเข้าสู่วงการแสงสีเต็มตัวทั้งรับงานแสดงอิสระกับคณะละครหลายคณะ เช่น คณะเทพศิลป์การละคร คณะศิวารมณ์, คณะอัศวินการละคร, คณะวิจิตรเกษม, คณะชื่นชุมนุมศิลปิน, และคณะลูกไทย เป็นต้น
แต่ที่ทำให้ชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น เห็นจะเป็นละครดังแห่งยุค "ขุนเหล็ก" ที่จับคู่แสดงกับดอกดิน กัญญามาลย์ นับตั้งแต่ปี 2484 เรื่อยมาจนถึง 2497 ผลงานของเธอได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง กระทั่งวงการละครเวทีก็ซบเซาลง เพื่อเป็นการส่งท้าย ส.อาสนจินดาได้รวบรวมนักแสดงทั้งหมดที่เกิดในวงการละครรวมทั้งชูศรี เล่นละครเรื่อง "อภัยทศพเนจร" จัดแสดงขึ้นที่โรงละครศรีอยุธยา
หลังจากนั้นทุกคนก็แยกเดินตามเส้นทางของตน แต่ชูศรี ไม่หยุดความฝันเพียงเท่านั้น เธอได้ไปสมัครร้องเพลงสลับหน้าม่านกับ "พยงค์ มุกดา" และ "เชาว์ แคล่วคล่อง" โดยเพลง "อัดซีบาบา คือเพลงแรกของชูศรีที่ร้อง ต่อมาจึงมีโอกาสเข้าสู่วงการจอเงิน โดยผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอคือเรื่อง "ยอดรักคนยาก" โดย ส.อาสนจินดา อย่างไรก็ตามด้วยความสามารถอันหลากหลาย ชูศรียังเคยขึ้นแท่นผู้กำกับภาพยนต์คือเรื่อง "แม่ค้าหาบเร่" นำแสดงโดย "เติม โมรากุล" คู่กับ "กรองจิต เตมีย์ศิลปิน" โดยเข้าฉายที่เฉลิมกรุง ได้กำไรมา 1 หมื่นบาท ซึ่งในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ตามเส้นทางชีวิตผู้กำกับของเธอไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะภาพยนต์เรื่อง "ในฝูงหงส์" ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ชูศรีจึงหันกลับมาแสดงภาพยนต์แต่เพียงอย่างเดียว ทว่ามีล้มก็ต้องมีลุก เมื่อไฟในกายของเธอลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ชูศรีสวมบทผู้กำกับภาพยนต์เรื่อง "สามเกลอเจอล่องหน" ได้ดาราแม่เหล็กระดับ "มิตร-เพชรา" มารับบทนำ แต่อนิจจาเรื่องนี้ก็ขาดทุนเช่นเคย เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาชูศรีกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้น ประกอบกับเผชิญมรสุมชีวิตคู่กับ "เชิด โรจนประดิษฐ์" บุคคลในวงการละครวิทยุและภาพยนต์ ทั้งสองพบรักกันเมื่อครั้งอายุเพียง 17 ปี แต่สุดท้ายก็มีอันต้องเลิกรากันไป
แต่ชีวิตยังต้องก้าวเดินต่อ แม้นว่าเธอจะป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมาแต่ก็ยังคงสปิริตนักแสดง ทำหน้าที่มอบสีสันสร้างรอยยิ้มให้ผู้ชมมาโดยตลอด จนกระทั่ง 4 ธันวาคม 2535 ม่านชีวิตของนักแสดงและตลกมากความสามารถก็ได้ปิดลง ชูศรี มีสมมนต์ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวัย 63 ปี
ตลอดเวลาที่ดาราตกลงชั้นครูผู้นี้โลดแล่นในวงการ ได้สร้างเสียงหัวเราะจากความสามารถอันครบเครื่อง ทั้ง ร้องเพลงเต้นรำ ตลอดจนงานละครสำหรับผลงานอันโดดเด่นเช่น "ช้อย" ใน สี่แผ่นดิน (2505), รายการทีวีชูศรีโชว์, โฆษณาแฟลตปลาทอง, อาหมวย ใน เงินเงินเงิน (2508), กิ่งแก้ว ใน ดาวพระศุกร์ (2509), สายคำ ใน แหวนทองเหลือง (2516), แม่พิณ ใน เคหาสน์สีแดง (2523), มาลี ใน เงินปากผี (2524), ทองจันทร์ ใน อาญารัก (2526), ยายจันทร์ ใน เจ้าจอม (2535)
สำนักข่าวทีนิวส์ขอรำลึกถึงการจากไปของ ชูศรี มีสมมนต์ มา ณ ที่นี้อีกครั้ง