- 06 ธ.ค. 2561
กลายเป็นประเด็นร้อนสะเทือนวงการบันเทิงขึ้นมาทันที สืบเนื่องจากคดีอันยืดเยื้อเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กรณี ธปท. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด
กลายเป็นประเด็นร้อนสะเทือนวงการบันเทิงขึ้นมาทันที สืบเนื่องจากคดีอันยืดเยื้อเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กรณี ธปท. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยปรากฏชื่อ ฟิลม์ รัฐภูมิ นักแสดงชื่อดังเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว
เนื่องจากเป็นบริษัทให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีมันนี่) ในการชำระสินค้าและบริการโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทาง ธปท. จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ประกอบกับ พ.ร.ฏ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฏ.อีเพย์เมนต์) และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตมีโทษสูงสุด จำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด 6 ธ.ค. 2561 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.3090/61 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด โดยนายศราวุฒิ นนทะภา กรรมการผู้มีอำนาจ ,นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม รัฐภูมิ อายุ 33 ปี ,นายธเนศ จัตวาพรพานิช อายุ 43 ปี และ นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ อายุ 38 ปี ในฐานะกรรมการบริษัท ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐาน "ร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันประกอบธุรกิจ บัตรชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต"
กรณีระหว่างเดือน ต.ค. 2559-20 ก.พ. 2560 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสี่ บังอาจร่วมกันประกอบกิจการ ให้บริการแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ "เพย์ออล" (Payall) มีสำนักงานอยู่ที่อาคาร ซีเอสทาวเวอร์ เลขที่ 230 ชั้น 1 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เปิดตัวเมื่อปี 2558 โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอพพลิเคชั่น และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าอีมันนี่ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้สมัครใช้บริการมากถึง 1 ล้านคน
โดยคำตัดสินคดีระบุว่า การกระทำของพวกจำเลย มีลักษณะร่วมกันประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการโอนสิทธิการถือครองเงิน และการโอนสิทธิการถอนเงิน หรือหักเงินผ่านบัญชี หรือ แอพพลิเคชั่นของผู้ใช้บริการโดยไม่จำกัด และไม่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการควบคุม ดูแลธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 และบัญชีท้ายตามพ.ร.ก.ว่าด้วยการควบคุม ดูแลธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
แต่ทางจำเลยให้การสารภาพศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะ ประวัติครอบครอบครัว การทำงานการศึกษา ของพวกจำเลย และอื่นๆ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดกรรมเดียวฐานประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต พิพากษา ปรับบริษัท เพย์ออล ฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 1 แสนบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ บริษัท เพย์ออลฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 1 แสนบาท
ส่วนจำเลยที่ 2-4 คงจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 5 หมื่นบาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะฯ แล้วเห็นว่า พวกจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี และให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนในการทำธุรกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย เพราะการทำการตลาดผสมผสาน ต้องขออนุญาตก่อนการดำเนินการในหลายขั้นตอน จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจยุคใหม่มีกฏหมายเกี่ยวข้องมากกว่าธุรกิจในยุคก่อนจึงต้องมีความรัดกุมและรอบคอบ มิฉะนั้นหากผิดพลาดขึ้นแล้ว อาจถึงกับต้องถูกดำเนินคดีความและปิดกิจการไปในที่สุดเช่นเดียวกับกรณีของ ฟิลม์ รัฐภูมิ